กรมชลฯ สั่งรับมือเฝ้าระวังน้ำท่วมภาคใต้ 8-11 ธ.ค. ตลอด 24 ชม.
วันนี้ (6 ธ.ค. 65) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หลังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าจะมีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 8 – 9 ธันวาคม 2565 และติดตามประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 8 – 11 ธันวาคม 2565 ดังนี้
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จังหวัดชุมพร (อ.ละแม) จังหวัดภูเก็ต (อ.ถลาง และเมืองภูเก็ต) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อ.กาญจนดิษฐ์ ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง พุนพิน ดอนสัก และเมืองสุราษฎร์ธานี) จังหวัดนครศรีธรรมราช (อ.เมืองนครศรีธรรมราช ขนอม สิชล ท่าศาลา พรหมคีรี ปากพนัง นบพิตำ และพระพรหม) จังหวัดพัทลุง (อ.เขาชัยสน ควนขนุน บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน และกงหรา) จังหวัดสงขลา(อ.กระแสสินธุ์ ระโนด เทพา รัตภูมิ ควนเนียง หาดใหญ่ สทิงพระ และจะนะ) จังหวัดตรัง (อ.กันตัง) จังหวัดสตูล (อ.เมืองสตูล) จังหวัดปัตตานี (อ.ไม้แก่น หนองจิก โคกโพธิ์ สายบุรี กะพ้อ ยะหริ่ง ทุ่งยางแดง และมายอ) จังหวัดยะลา (อ.รามัน เมืองยะลา และยะหา) จังหวัดนราธิวาส (อ.เมืองนราธิวาส ตากใบ เจาะไอร้อง บาเจาะ ยี่งอ แว้ง สุไหโก-ลก สุคิริน และรือเสาะ)
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำสูงสุด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ รวมทั้งเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
นายประพิศ กล่าวว่า ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังระดับน้ำทั้งแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาตลอด 24 ชั่วโมง ตรวจสอบอาคารชลประทาน ตลอดจนแนวค้นกั้นน้ำต่าง ๆ ให้มีความมั่นคงแข็งแรงพร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก บุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ บริเวณพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานแจ้งเตือนประชาชน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น