กรมชลฯ จ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินโครงการฝายหัวนา
กรมชลประทาน เดินหน้าจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติให้จ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินให้กับผู้รับผลกระทบเพิ่มเติม
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อปี 2535 โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน(เดิม) กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ โขง-ชี-มูล มีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านเกษตรกรรมและอุปโภคบริโภคในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อสร้างเป็นฝายคอนกรีตพร้อมประตูระบายน้ำ 14 บาน ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 (บ้านกอก) ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ แล้วเสร็จเมื่อปี 2542 แต่เนื่องจากที่ผ่านมา ราษฎรในพื้นที่ไม่มีความมั่นใจและหวั่นเกรงผลกระทบต่อวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเหตุให้มีการรวมตัวคัดค้านและชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 และวันที่ 3 เมษายน 2544 ครม. ได้มีมติให้ระงับการดำเนินงานทั้งหมดของโครงการฝายหัวนา รวมไปถึงการก่อสร้างระบบชลประทานและการถมลำน้ำมูลเดิมไว้ก่อน เพื่อดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม ในปี 2545 โครงการฯได้โอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 รับทราบรายงานผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม พร้อมอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ต่อไปจนแล้วเสร็จ ตลอดจนสำรวจข้อมูลและพิจารณาการจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ราษฎรให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่งและมติคณะรัฐมนตรีที่กรมชลประทานถือปฏิบัติอยู่
ต่อมาในวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ครม.ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้กรมชลประทานจ่ายเงินค่าทดแทนทรัพย์สินให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ วงเงินรวมทั้งสิ้น 62,078,662.50 บาท โดยกรมชลประทานได้ปรับแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากราษฎร พร้อมกันนี้ ยังได้อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการจ่ายเงินค่าทดแทน จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการจ่ายเงินและจำนวนเงินค่าทดแทนทรัพย์สินให้ถูกต้องครบถ้วน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานกรรมการฯ ผู้แทนกลุ่มสมัชชาคนจน และผู้แทนกลุ่มโนนสัง กลุ่มราษีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหัวนา เป็นกรรมการและเลขานุการ
สำหรับที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ได้เห็นชอบให้จ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 จำนวน 350 แปลง เนื้อที่ 770-1-59 ไร่ เป็นเงิน 34,667,887.50 บาท เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา เห็นชอบอนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทนทรัพย์สินเพิ่มเติม ให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนาเพิ่มเติมแล้ว พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการจ่ายเงินฯ ต่อไป
ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้ผู้เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนทรัพย์สินให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนาด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใสที่สุดทุกขั้นตอน