ดร.ธเนศ ชี้ความเป็นไปได้ “การรื้อถอนผิดขั้นตอน” เป็นเหตุให้สะพานกลับรถร่วง
ขูดผิวถนนออกทำเสียสมดุลน้ำหนักกับแบร์ริเออร์ รอพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เผยกรมทางหลวงเตรียมรื้อส่วนชำรุดทั้งหมด เปิดการจราจรโดยเร็วที่สุด
วันนี้ (2 ส.ค. 65) ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมทีมวิศวกร เดินทางมาตรวจสอบเหตุชิ้นส่วนสะพานกลับรถถล่ม กม.34 ถนนพระรามสอง อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยมาตรวจสอบแล้วเมื่อวานนี้
ดร.ธเนศ กล่าวว่า จากการสำรวจวันนี้พบ สภาพชำรุดที่ยังคงค้างอยู่ของสะพาน โดยตัวคานหลักที่ร่วงลงมาได้ทำการย่อยไปแล้ว โดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่มาเพื่อตรวจสอบสาเหตุเบื้องต้นว่าจะเกิดจากอะไรได้บ้างตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ ดูความปลอดภัยในการสัญจรผ่านพื้นที่ตรงนี้ของประชาชน หารือแนวทางแก้ปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ การประเมินและป้องกันเหตุที่มีความเสี่ยงคล้ายกันในอนาคต
จากการสังเกตพื้นที่ และสันนิษฐานความเป็นไปได้ (Possible Cause) ที่ดูเป็นไปได้มากที่สุด พบว่าการซ่อมสะพานมีลักษณะ มีพื้นวางบนคานหลักรูปตัวไอ (I) เชื่อมกับอีกฝั่งที่มีพาราเฟส หรือแบร์ริเออร์กันรถ ซึ่งโดยปกติการก่อสร้างสะพานจะติดตั้งพาราเฟสเป็นส่วนสุดท้าย เมื่อมีการรื้อถอนก็ควรย้อนขั้นตอน รื้อพาราเฟสออกก่อนจะเซาะพื้นถนน แต่ลักษณะที่สังเกตเห็นเหมือนจะมีการรื้อพื้นถนนที่มีความหนามากกว่า 20 เซนติเมตรออกก่อน เป็นวัสดุมีน้ำหนัก ทำให้อีกฝั่งของคานที่เป็นพาราเฟสที่ยังมีน้ำหนักเท่าเดิม น้ำหนักไม่ได้ลงกับคานโดยตรงเพราะมีส่วนที่ขาดออกไป อาจยังมีตัวเชื่อมกับคานอยู่แต่ไม่พอ ขาดความสมดุล ทำให้เกิดการบิดคานและร่วงหล่นลงมา
เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นมีการปิดกั้นการจราจรเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชน แต่ก็กระทบต่อสภาพการจราจร รถติดหนัก อธิบดีกรมทางหลวงจึงมีคำสั่งให้มีการรื้อถอนชิ้นส่วนที่มีการซ่อมแซมทั้งหมด ในช่วงหัวโค้งทางกลับรถฝั่งขาเข้า ที่ยังเหลือคานอีก 4 ตัว ออกในเย็นวันนี้ โดยทำการรื้อถอนพาราเฟสออกก่อนป้องกันเกิดเหตุถล่มซื้อ เพื่อเปิดการจราจรในช่องทางหลักโดยเร็วที่สุด และหลังจากนั้น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยและสภาวิศวกรจะร่วมตรวจสอบโครงสร้างสะพานโดยละเอียดอีกครั้ง ทั้งตรวจสอบหน้างานและนำชิ้นส่วนไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ
ส่วนประเด็นว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดจากความประมาทของวิศวกรหรือไม่ ดร.ธเนศ กล่าวว่า ยังไม่อาจสรุปได้ตอนนี้ อยู่ที่ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง วันนี้ตนมานำเสนอข้อมูลทางวิชาการตามหลักวิทยาศาสตร์ เป็นทางหนึ่งที่อาจเป็นไปได้จากการสังเกตพื้นที่หน้างาน
ส่วนประเด็นวัสดุ เหล็ก คอนกรีต เสื่อมสภาพจากเพลิงไหม้เมื่อปี 2547 เป็นเหตุหรือไม่ ดร.ธเนศ มองว่าเรื่องนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่วิศวกรไม่สามารถตัดทิ้งได้ ต้องนำไปตรวจสอบ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าหากเป็นที่วัสดุเสื่อมจากเหตุเมื่อ 10 ปีที่แล้วจริง ระหว่างเวลาจนถึงตอนนี้ต้องส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่งมาในช่วงก่อนหน้าแล้ว โดยหลังจากนี้จะมีการตรวจโครงสร้างสะพานโดยละเอียดจะได้ทราบผลตามข้อสันนิษฐานนี้