KNOWLEDGE

เด็กอนุบาลยากจนพิเศษ 1.5 แสนคน เสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา กสศ.หวังงบประมาณเพิ่ม ให้ทุนหนุนเสมอภาค

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. เปิดเผยว่าจากการเก็บข้อมูลขององค์กร OECD ผ่านทางการทดสอบ PISA ที่ผ่านมาในปี 2018 และ 2015 พบว่าประเทศที่เยาวชนกลุ่มอายุ 15 ปี สามารถทำคะแนนได้ดี มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับจำนวนปีที่ใช้ในการเข้าเรียนในระดับปฐมวัย

รายงานของ PISA พบว่าสัดส่วนของนักเรียนอายุ 15 ที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน มีความสัมพันธ์กับจำนวนปีที่ขาดโอกาสในการเข้าเรียนในระดับปฐมวัยอย่างชัดเจน ผู้ที่ได้เรียนปฐมวัยเพียง 1 ปีหรือน้อยกว่านั้น จะมีผลสัมฤทธิ์ที่ต่ำกว่าผู้ที่มีโอกาสได้เรียน 2-3 ปีขึ้นไปเป็นอย่างมาก

เรื่องนี้มีความสัมพันธ์กับเศรษฐานะของครอบครัวด้วย นั่นคือหากครอบครัวอยู่ในกลุ่มด้อยโอกาสทางเศรษฐานะ จะยิ่งมีโอกาสในการเข้าเรียนระดับปฐมวัยที่น้อยลง

ภาครัฐจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมุ่งช่วยเหลือครอบครัวของเด็กเล็กที่อยู่ในกลุ่มที่มีความยากลำบากทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ได้มีโอกาสในการเข้าเรียนในระดับปฐมวัยเพื่อผลในระยะยาว

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

นอกจากนี้ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เปิดเปิดเผยผลสำรวจ SRS ในพื้นที่นําร่อง 5 จังหวัด ครอบคลุมทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง และภูเก็ต ในกลุ่มเป้าหมายนักเรียนอายุ 5-6 ปี ในชั้นอนุบาล 2 และ 3 พบว่า เด็กที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีความขัดสนมากกว่าและครอบครัวที่เคยมีปัญหาอาหารไม่เพียงพอแก่การบริโภค ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่จะมีความพร้อมด้านคณิตศาสตร์และภาษาไทยต่ำกว่าเด็กกลุ่มอื่น

ผลการวิจัย พบว่า มีเด็กปฐมวัยบางส่วนที่มีระดับความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟังค่อนข้างต่ำ ซึ่งจังหวัดที่มีปัญหาส่วนนี้ค่อนข้างมากคือ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ กาญจนบุรี  หากเจาะลึกไปที่ 3 จังหวัดแรกที่มีปัญหามากที่สุด จะพบว่า ว่าเด็กกลุ่มนี้อยู่ในอำเภอที่ห่างไกล เช่น แม่อาย  ฝาง จอมทอง  ทองผาภูมิ หนองปรือ ราษีไศล  ขุนหาญ

ผลสํารวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยหรือ School Readiness Survey (SRS) ระดับจังหวัด
ผลสํารวจทักษะในการฟังเพื่อทำความเข้าใจของเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด

“เนื่องจากปัญหาของการศึกษาที่สำคัญคือ การที่มีเด็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่ใช่ความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยเพียงไม่กี่คะแนน  ดังนั้น การรายงานผลโดยใช้สัดส่วนเด็กหางแถว จะทำให้เราได้รู้ว่าพื้นที่ไหนมีเด็กหางแถวหรือมีเด็กนักเรียนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากเป็นพิเศษ และช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยควรสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษารวมถึงการสนับสนุนที่มุ่งเป้าไปที่ตัวเด็ก” ดร.วีระชาติกล่าว

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ดร.ไกรยส  ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดเผยว่า จากผลวิจัยที่สำรวจพบ กสศ.จึงเป็นห่วงอย่างมากที่เด็กอนุบาลยากจนพิเศษกลุ่มนี้ ที่ต้องมีโอกาสทางการศึกษา

“เด็กปฐมวัยถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐให้จัดการศึกษาระดับก่อนวัยเรียนให้แก่เด็กปฐมวัยอย่างเสมอภาค โดยได้บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 54 ให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษามีบทบาทสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยในครอบครัวที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพได้จนสำเร็จการศึกษาตามศักยภาพและความถนัดของแต่ละคน”

ดร.ไกรยส  ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2563 คณะกรรมการ กสศ.ได้ขยายผลการดำเนินงานตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ สนับสนุนทุนเสมอภาคที่จะช่วยป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบให้ครอบคลุมนักเรียนยากจนพิเศษระดับชั้นอนุบาลในสังกัด สพฐ. อปท. ตชด. ให้ครอบคลุม 77 จังหวัด ราว 1.5 แสนคน การที่จะสามารถช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้หรือไม่นั้น ต้องรอการพิจารณางบประมาณปี 2563 นี้ ว่า กสศ. จะสามารถแปรญัตติเพิ่มงบประมาณในส่วนที่ถูกตัดลดได้หรือไม่

Related Posts

Send this to a friend