ปลัด สธ.-เลขาฯ สปสช. แถลงยืนยันคนไทยมีสิทธิรักษาเท่าเทียม
‘ภูมิใจไทย’ นำ ปลัด สธ.-เลขาฯ สปสช. แถลงยืนยันคนไทยมีสิทธิรักษาเท่าเทียม ชี้ปัญหากลุ่ม ขรก.-ประกันสังคม สะดุดข้อกฎหมายป้องกันโรค เตรียมร่าง พ.ร.ฎ.ป้องกันโรค มี.ค.นี้
วันนี้ (15 ก.พ.66) นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้แจงกรณีมีการอภิปรายถึงการตัดงบประมาณ สปสช. ว่า การอภิปรายดังกล่าวมีข้อเท็จจริงที่ไม่ครบถ้วน
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่ากองทุนหลักในการดูแลสุขภาพคนไทยมี 3 ส่วน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิข้าราชการ ซึ่งในภาพรวมคนไทยต้องมีสิทธิ์ใดสิทธิ์หนึ่ง ทั้งในการรักษาพยาบาลและการป้องกันโรค การป้องกันโรคดูแลการฉีดวัคซีน การคัดกรองโรคและการให้ถุงยางอนามัยแก่กลุ่มเสี่ยง ซึ่งในส่วนที่มีปัญหาคือ เดิมกองทุนสวัสดิการข้าราชการและบัตรประกันสังคมไม่ได้ระบุไว้ ทำให้เวลาข้าราชการไปรับวัคซีนจึงไม่มีงบประมาณรองรับ เช่นเดียวกับกลุ่มประกันสังคม
แต่ในส่วนของ สปสช. ครอบคลุมทั้งในเรื่องของรักษาและการป้องกัน จึงมีการจัดงบประมาณดูแลส่วนนี้ ทำให้ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการเหมือนจะได้รับสิทธิที่น้อยกว่า แต่มีข้อกฎหมายบางประเด็นที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้นโยบายมาตลอดว่าคนไทยทุกคนต้องได้รับสิทธิ์การรักษาเท่าเทียมกันทั้งการรักษาและการป้องกันโรค
ด้านนายแพทย์จเด็จ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การตั้งงบประมาณทั้งการรักษานั้น มีการเบิกจ่ายตามระบบ โดยตั้งงบไว้ที่สองส่วนใหญ่คือ คืองบประมาณในการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค เป็นงบประมาณที่ตั้งอยู่ที่กองทุนหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นการตั้งงบสำหรับทุกคน ทุกสิทธิ์ ส่วนการรักษาพยาบาลตั้งไว้สำหรับคน 48 ล้านคน
สำหรับในปีนี้เมื่อมีข้อทักท้วงทางกฎหมายทางสำนักงาน สปสช. ก็ดำเนินการตาม พ.ร.บ. คือจะมีการร่างพระราชกฤษฎีกาบริการเพื่อออกมาให้บริการทั้งสองส่วน ซึ่งได้มีการหารือเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการฯ ได้มีมติที่จะร่วมกันออกพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะนำเข้าสู่ที่ประชุมในเดือนมีนาคมนี้ เชื่อว่าจะเข้าสู่กระบวนการร่างพระราชกฤษฎีกาการป้องกันโรคสำหรับคนทุกคน
ในส่วนการให้บริการและกระทบกับประชาชนทุกหน่วยยังให้บริการเหมือนเดิม ในส่วนของหน่วยบริการนอกเหนือ สปสช. ก็เดินสายขอความร่วมมือกับทุกแห่งเพื่อให้บริการเหมือนเดิม ดังนั้นคงไม่มีผลกระทบกับผู้เข้ารับบริการ และจะเร่งดำเนินการในส่วนของกฎหมาย