’ประธานสหภาพรถไฟ’ ยื่นตรวจสอบ ปมเปลี่ยนป้ายจากสถานีกลางบางซื่อ เป็น กรุงเทพอภิวัฒน์ ราคา 33 ลบ.

’ประธานสหภาพรถไฟ’ ยื่นหนังสือตรวจสอบ ปมเปลี่ยนป้ายจากสถานีกลางบางซื่อ เป็น กรุงเทพอภิวัฒน์ ราคา 33 ลบ. ด้านรองผู้ว่า รฟท. ยัน เป็นไปตามขั้นตอนถูกต้องและโปร่งใส เตรียมออกหนังสือชี้แจงภายในวันนี้
วันนี้ (3 ม.ค. 66) นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กรณี การเปลี่ยนป้ายอักษรจากสถานนีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ราคาโครงการกว่า 33 ล้านบาท
สืบเนื่องจากวันที่ 28 ธ.ค. 65 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ชนะการเสนอราคาจ้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟโดยวิธีเฉพาะเจาะจงในการคัดเลือกบริษัท ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกคือ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) ด้วยมูลค่าโครงการ 33,169,726.39 ล้านบาท โดยมีการตั้งวงเงินงบประมาณและราคากลางในการจ้างก่อสร้าง 34,000,000 ล้านบาท
นายสราวุธ ระบุว่า ตามระเบียบราชการการประกวดราคาควรจะดำเนินการตามขั้นตอนตั้งแต่ขั้นตอนที่หนึ่งถึงสาม คือเปิดให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาเสนอประกวดยื่นราคา และหากไม่มีบริษัทไหนเสนอราคาเข้ามาประกวดถึงต้องใช้วิธีเฉพาะเจาะจงแต่การรถไฟฯ ข้ามขั้นตอนไปใช้วิธีเฉพาะเจาะจงให้บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นผู้ผลิตป้ายอักษรโดยทำสัญญาว่าจ้างใช้งบประมาณในการเปลี่ยนป้ายกว่า 33 ล้านบาท ซึ่งทางสหภาพฯ เห็นว่าไม่มีความจำเป็นและไม่มีความโปร่งใส เพราะหากคำนวณราคาป้ายทั้งหมดแล้วเฉลี่ยอักษรละ 568,000 กว่าบาท จึงอยากให้การรถไฟตรวจสอบว่าวิธีดำเนินการดังกล่าวถูกต้องและโปร่งใสหรือไม่ ขณะเดียวกันยังเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบเปลี่ยนป้ายอักษร จำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานไว้ให้มากที่สุด สรรหาบริษัทที่ใช้งบประมาณคุ้มค่าไม่ใช่ไร้คู่แข่ง
นายสราวุธ ยังระบุอีกว่า บริษัทข้างต้นเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทอิตาเลียนไทยที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง จึงอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทนี้ได้เข้ามาทำงาน และทางการรถไฟยังมีหนี้สินจำนวนมาก การใช้งบประมาณดังกล่าวจำเป็นแล้วหรือไม่ จึงอยากให้ตรวจสอบอย่างเร็วที่สุด โดยนอกจากหนังสือที่ยื่นให้มีการตรวจสอบแล้ว ยังมีเอกสารการลงนามสัญญา เอกสารประกาศจากการรถไฟแห่งประเทศไทย และวงเงินในการตั้งงบประมาณครั้งนี้ด้วย
ด้านนายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และปฎิบัติการภารกิจรับผิดชอบด้านการบริหารจัดการบริษัทรถไฟฟ้าลงมารับหนังสือ พร้อมระบุว่า กระบวนการดังกล่าวมีคณะกรรมการตรวจสอบทั้งหมด โดยยืนยันว่าเป็นการคัดเลือกที่ถูกต้องโปร่งใส ซึ่งราคาดังกล่าว ต้องดูที่ขนาดตัวอักษร การปรับปรุงในครั้งนี้ต้องเปลี่ยนแกนโครงสร้างในการรองรับป้ายใหม่ กระจกบริเวณที่ติดป้าย รวมถึงค่าใช้จ่ายการถอดถอนและติดตั้งใหม่ด้วย และยืนยันว่าไม่มีการเอื้อผลประโยชน์ให้กับใคร ส่วนหลักการและเหตุผลจะมีหนังสือชี้แจงอีกครั้งจากทาง รฟท. คาดว่าจะมีการเผยแพร่ภายในวันนี้ พร้อมเชื่อว่าหากสังคมได้เห็นเอกสารและได้รับฟังเหตุผลจะเข้าใจในราคาที่เปลี่ยนอักษรในวงเงิน 33 ล้านบาท