นับถอยหลัง 60 วัน เตรียมพร้อมบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย

นับถอยหลัง 60 วัน เตรียมพร้อมบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย เรียกร้องรัฐคุ้มครองสิทธิประชาชน
วันนี้ (22 ธ.ค. 65) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และภาคีเครือข่าย ออกแถลงการณ์ภาคประชาชนรอคอยการบังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายฯ ใจความระบุว่า
หลังจากที่รอคอยมากว่า 15 ปี นับถอยหลังเป็นเวลาอีก 60 วัน ที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 (120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565) มีบทบัญญัติสำคัญที่กำหนดให้การทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำหรือบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดอาญา ซึ่งนอกจากจะมีผลในการป้องกันและปราบปรามการทรมาน การฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม (extra-judicial killing) และบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ยังมีบทบัญญัติที่จะมีผลในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการอย่างมาก
เช่น กำหนดให้ในการจับกุมบุคคล ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่จะต้องมีกล้องติดตามตัว หรือ Body Cam เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทรมานหรือการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งเจ้าหน้าที่ที่จับกุมคุมขังบุคคลต้องแจ้งให้หน่วยงานอื่น เช่น ฝ่ายปกครองและอัยการทราบเกี่ยวกับการควบคุมตัวทันที พร้อมทำบันทึกรายละเอียดของการจับกุมและควบคุมตัว เพื่อให้ครอบครัวของผู้ถูกจับและทนายความตรวจสอบได้ ซึ่งจะไม่เพียงเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ถูกจับกุมคุมขังเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่สุจริต กรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดด้วย กฎหมายยังให้ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งพิจารณาคดีที่เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตกเป็นจำเลยด้วย นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้รัฐมีมาตรการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้เสียหาย ทั้งในด้านชีวิตความเป็นอยู่ ร่างกาย และจิตใจด้วย
การที่รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ได้รับความชื่นชมจากประชาชน องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศและนานาประเทศอย่างยิ่ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 นายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีที่สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) ชื่นชมประเทศไทยที่ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ นี้
องค์กรภาคประชาสังคมได้แก่ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) กลุ่มด้วยใจ มูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) และเครือข่ายผู้เสียหายจากทรมานอุ้มฆ่าและอุ้มหาย จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการบังคับใช้ให้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ ฝึกอบรมกฎหมายแก่เจ้าหน้าที่และเผยแพร่ต่อประชาชน เพื่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อประชาชนและนานาชาติ ว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 อย่างแน่นอน
โดยวันเดียวกัน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เข้าใจและใช้อย่างไรจึงได้ผล ณ โรงแรม Ibis Styles Ratchada
รศ.ดร.ปกป้อง สีสนิท นักวิชาการ คณะบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง 3 องค์ประกอบของการอุ้มหาย ได้แก่ การจับกุมคุมขัง ลักพาตัว ริดลอนสิทธิและเสรีภาพ, เป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และปฏิเสธว่าไม่ได้นำตัวไป ปกปิดชะตากรรม ทั้งนี้ในคณะกรรมการต่อต้านการทรมานตามอนุสัญญาด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชน ระบุชัดว่า การบันทึกเสียงภาพขณะคุมตัว มีประสิทธิผลในการป้องกันการทรมาน ซึ่งมีการกำหนดบทบัญญัติชัดเจนในมาตรา 22 ของกฎหมายฉบับนี้
ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการ กล่าวขอบคุณภาคประชาชนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อยกร่างกฎหมายดังกล่าว นับเป็นเรื่องปาฏิหารย์มาก ส่วนหนึ่งที่ทำให้การซ้อมทรมาน และอุ้มหายยังมีอยู่ เพราะวิธีพิจารณาความ และวิธีปฏิบัติที่บกพร่อง มีการย่ำยีศักดิ์ศรีมนุษย์ เช่น ตากแดดแช่น้ำ ห้อยหัว กินข้าวปนอุจจาระ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นไปเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เช่น การแจ้งการจับ การติดกล้องในชั้นจับกุม สิ่งที่น่ากังวลคือ มีความพยายามออกพระราชกำหนด เพื่อไม่ให้กฎหมายนี้ประกาศใช้
นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หลังกฎหมายเตรียมประกาศบังคับใช้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้เข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีดีเอสไอ และอัยการ เพื่อทำความเข้าใจในระดับนโยบาย ข้อห่วงกังวลของหลายหน่วยงานอยู่ที่ มาตรา 22 การบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่อง และมาตรา 23 แบบบันทึกข้อมูลของผู้ถูกจับกุม เพราะบางหน่วยงานยังไม่มีแนวปฏิบัติ และมีพื้นที่จัดเก็บภาพและเสียงไม่เพียงพอ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกภาพและเสียง ส่วนการเข้าร่วมในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) ได้เสนอและผลักดันทุกปี โดยขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นหน่วยงานหลัก
นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คำร้องเรื่องทรมานและอุ้มหายแทบทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีพยานหลักฐาน จึงเสนอความเป็นไปได้ในการใช้ความเห็นทางการแพทย์ (Second Medical Opinion) มาประกอบเป็นพยานหลักฐาน บ่งชี้ถึงการกระทำรุนแรง โดยขอให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ
เรื่อง/ ภาพ : ณัฐพร สร้อยจำปา