ชาววารินฯ อ่วม! หลังพายุ ‘โนรู’ เข้าไทย ชาวบ้านอพยพหนีน้ำ
ชาววารินฯ อ่วม! หลังพายุ ‘โนรู’ เข้าไทย น้ำมูลที่อุบล ฯ ล้นทะลักเข้าบ้านเรือน ชาวบ้านอพยพขนของหนีน้ำท่วม – โจร
วันนี้ (30 ก.ย. 65) ชาวบ้านในชุมชนหาดสวนสุข และชุมชนท่ากอไผ่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พากันอพยพขนข้าวของหนีน้ำท่วม ที่เอ่อล้นทะลักพนังกั้นลำน้ำมูล ขึ้นมาพักอาศัยริมถนนสถิตย์นิมานกาล หลังพายุไต้ฝุ่นโนรูอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ศูนย์กลางพายุได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง และผ่านจังหวัดอุบลราชธานีไปแล้ว เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา
จากอิทธิพลของพายุโนรู ส่งผลกระทบในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี มีฝนตกตลอดตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 กันยายน จนถึงคืนที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำในแม่ลำน้ำมูล เพิ่มสูง ก่อนล้นทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนที่อยู่เลียบลำน้ำ ระดับน้ำสูงกว่า 3 เมตร เนื่องจากมีน้ำที่ตกค้างจากพายุโนรู และน้ำจากตอนเหนือของจังหวัดอุบลราชธานีที่ไหลลงมาสมทบในลำน้ำมูล ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น
นาย จำนงค์ จิตรนิรัตน์ อาสามูลชุมชนไท พาผู้สื่อข่าว The Reporters นั่งเรือเข้าชมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในชุมชนหาดสวนสุข และชุมชนท่ากอไผ่ พร้อมเปิดเผยว่า ในวันนี้เป็นวันแรก ที่กระแสน้ำที่มาจากลำน้ำมูลเริ่มไหลเชี่ยวแรงขึ้น เนื่องจากน้ำจากตอนเหนือ ลงมาสมทบกับน้ำที่ตกค้างจากพายุในลำน้ำมูล ทำให้น้ำล้นทะลักพนังกั้นน้ำ ส่งผลให้น้ำที่ท่วมอยู่ในชุมชนสูงขึ้นจากเมื่อคืนประมาณครึ่งเมตร และคาดว่าหากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม น้ำอาจจะลดกลับเข้าสู้สภาวะปกติได้ ในปลายเดือนตุลาคมนี้
นายจำนงค์ กล่าวต่อว่า ชุมชนหาดสวนสุข ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนบ้านหาดสวนยา และชุมชนบ้านท่าบ่งมั้ง เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูงที่สุดในจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้ง ชุมชนดังกล่าวนั้น ได้อพยพขึ้นมาอยู่ที่ศูนย์พักพิงตามจุดต่าง ๆ และริมถนน กว่า 1 เดือน เนื่องจากมีน้ำท่วมอยู่แต่เดิมแล้ว โดยวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ก็ได้อพยพขึ้นไปอยู่ข้างเทศบาลที่สูงขึ้นไปอีกขั้นนึง เนื่องจากฝ่ายราชการได้แจ้งว่าจะมีน้ำท่วมสูงขึ้นอีก ประมาณครึ่งเมตร รวมถึงยังมีความสับสนจากการแจ้งข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ทำให้การอพยพในวันนี้เต็มไปด้วยความทุลักทุเล
สำหรับการช่วยเหลือประชาชน นายจำนงค์ระบุว่า ในช่วงที่เกิดน้ำท่วมจนถึงขณะนี้ มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และอาสาสมัครเข้าให้การช่วยเหลือกันอย่างเป็นระยะ อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเทศบาลเมืองวารินชำราบ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี มณฑลทหารบกที่22 มูลนิธิปอเต็กตึ้ง เป็นต้น ร่วมทั้งอาสาชุมชนที่ได้ร่วมกันผลิตเรือขึ้นมา กว่า 28 ลำ ภายหลังจากได้รับบทเรียนน้ำท่วมในปี 2562 จนใช้มาถึงปัจจุบัน
อีกทั้งชาวบ้านในชุมชน ยังมีบางส่วนที่ยังคงอาศัยอยู่ในบ้าน ไม่ได้มีการอพยพออกจากบ้าน เนื่องจากชาวบ้านเป็นห่วงเรื่องทรัพย์สินและของมีค่าในบ้าน เนื่องจากมีมิจฉาชีพ คอยพายเรือไปตามบ้านเพื่อขโมยของ ซึ่งทางมูลนิธิอาสาชุมชน ได้ส่งอาสาเข้าลาดตระเวน ในตอนกลางคืนในทุกวัน เพื่อป้องกัน และช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชน โดยขณะนี้มีเจ้าหน้าที่อาสาอยู่ประมาณ 80 คน ซึ่งได้มีการอบรมฝึกฝนการช่วยเหลือ และการกู้ชีพ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน คาดว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้า กลุ่มมูลนิธิอาสาชุมชนจะต้องมีเรือลาดตระเวนอีกด้วย
นอกจากนี้ นายจำนงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางมูลนิธิเองได้ถอดบทเรียนน้ำท่วมจากปี 2562 พร้อมนำไปปรับปรุงการช่วยเหลือ และการอพยพชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้ผลกระทบ และความสูญเสียนั้นน้อยลงให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ภายในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ยังคงมีในหลายๆ พื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังในอำเภอเมืองอุบลราชธานี เช่น บริเวณท่าวังหิน ซอย พนม5 และพื้นที่ที่อยู่ติดริมแม่น้ำ อาทิ กุดเปง, กุดศรีมังคละ, กุดปลาขาว, คลองมูลน้อย เป็นต้น
เรื่อง: กิตติธัช วิทยาเดชขจร
ภาพ: ธนาภรณ์ วุฒิสนธิ์