
ยิ่งใกล้งานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 2 ยิ่งเห็นการเตรียมความพร้อมการจัดงานยิ่งใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ใน 5 แผ่นดินทอง ไทย-เมียนมา-เวียดนาม-สปป.ลาวและกัมพูชา ที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 14 – 31 ตุลาคม พ.ศ.2562 การจัดงานที่เป็นการเปิดบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งที่ 2 ได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนจาก “รัฐบาลกลาง” ทุกประเทศ โดยมี “ประธานสงฆ์” จาก 5 แผ่นดินรับเป็น “ที่ปรึกษา” โครงการ
หากย้อนกลับไปในปี 2560 สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ชมรมโพธิคยาฯ และมูลนิธิวีระภุชงค์ เป็นแกนหลักในภาคเอกชน ประสานงานกับภาครัฐ-เอกชนใน 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง จัดงาน “ธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง” ขึ้นเป็นครั้งแรก ตามดำริของ “พระอาจารย์ใหญ่มหาผ่อง สะมาเลิก” อดีตประธานศูนย์กลางพุทธศาสนสัมพันธ์ลาว ก่อนที่ท่านจะละสังขารเมื่อปี 2558 สิริอายุ 100 ปี
“การจัดธรรมยาตรา 5 แผ่นดินจะเป็นประวัติศาตร์หน้าใหม่ของพุทธศาสนา เพราะยังไม่มีใครทำได้มาก่อน และยินดีที่เห็นอุบาสก อุบาสิกา มีความคิดเชิงรุกในการนำพระพุทธศาสนามาเชื่อมโยงดินแดนสุวรรณภูมิไว้ด้วยกัน…”
เป็นคำพูดของหลวงปู่มหาผ่อง สะมาเลิก ที่กล่าวหลายครั้งแม้กระทั่งในช่วงใกล้ละสังขาร จึงเป็นเหตุให้ผู้บริหารสถาบันโพธิคยาวิชชาลัยที่เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดนำมาเป็น “แรงบันดาลใจ” สำคัญในการผลักดันให้การจัดงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินสำเร็จลุล่วงให้ได้
เช่นเดียวกับที่ “พระอาจารย์ใหญ่มหางอน ดำลงบุญ” ประธานศูนย์กลางพุทธศาสน์สัมพันธ์ลาว องค์ปัจจุบัน กล่าวที่วัดหลวง แขวงจำปาสัก ระหว่างงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ครั้งแรกในปี 2560 ว่า
“เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ “รัฐบาลลาว” อนุญาตให้เอกชนจากต่าวประเทศ จัดงานเกี่ยวกับ “ศาสนา” ใน สปป.ลาว นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1975″
สอดคล้องกับคำอธิบายของ “พระธรรมโพธิวงศ์” หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล และ ผู้อำนวยการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย เคยกล่าวถึงงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินครั้งแรกว่า
“ในครั้งก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้ามาในประเทศไทย “พระเจ้าอโศกมหาราช” ทรงทำการสังคายนาโดยใช้ขบวนธรรมยาตราเสด็จไปตามแว่นแคว้นที่มีความเห็นต่างกันไปในที่ที่มีความเป็นอยู่ต่างกัน… “พระเจ้าอโศกมหาราช” อาศัย “ธรรมยาตรา” เพื่อให้ดินแดนที่มีความขัดแย้งลืมความขัดแย้งนั้นไป กลายเป็นความสมัครสมานสามัคคีเกิดขึ้น”
นับถอยหลัง”ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน” ทุกประเทศพร้อมแล้ว
การจัดงาน “ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน” ในแต่ละครั้งใช้เวลาประสานงานกับทุกภาคส่วนไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยเฉพาะการจัดงานครั้งแรกยังไม่เคยติดต่อประสานงานกันมาก่อนจึงใช้เวลา แต่การจัดงานธรรมยาตราครั้งที่ 2 กล่าวได้ว่า ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างดียิ่ง เพราะตระหนักถึงผลสำเร็จที่ได้รับจากการจัดงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน เมื่อ 2 ปีก่อน
นายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยา กล่าวในการแถลงข่าวโครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ครั้งที่ 2 ว่า ระหว่างพิธีเปิดงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินครั้งแรก ที่กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อปี 2560 ทั้งนายฮอ นำฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา และพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีความเห็นตรงกันว่า โครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ต้องไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย หากแต่จะต้องสานต่อหมุน “กงล้อแห่งธรรม” ด้วยการใช้ “พุทธศาสนา” เชื่อมสัมพันธ์ประเทศในลุ่มน้ำโขง
สำหรับพิธีเปิดโครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2562 ที่ “วัดพระธาตุผาเงา” อ.เชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีพิธีบวงสรวงพระธาตุ ขบวนแห่โดยมหาวิทยาลัยราขภัฎเชียงราย การปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถระสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับรองประธานสงฆ์อีก 4 แผ่นดิน และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
ขบวนธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ครั้งที่ 2 ตลอด 18 วันจะจาริกผ่านดินแดนของประเทศไทย ที่จังหวัดเชียงราย อุดรธานี สกลนคร และนครพนม
เมียนมา หวัง “ธรรมยาตรา” สร้างพลังศรัทธาชาวพุทธ – ไม่เปลี่ยนศาสนา
ดร.คิน ฉ่วย ประธานสมาพันธ์พุทธเถรวาทแห่งสหภาพเมียนมา และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ชมรมโพธิคยาฯ ย้อนเล่าถึงประสบการณ์การเดินทางไปในประเทศลุ่มน้ำโขง เช่น ไทย เมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา ยังไม่มีศาสนสถานกลางที่เป็น “ศูนย์กลาง” ของชาวพุทธเหมือนกับศาสนาอื่น ๆ ประกอบกับสถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ แม้จะมี พระสงฆ์กว่า 5 แสนรูป แต่ระยะหลังประชาชนชาวเมียนมา มีการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น เช่น ฮินดู คริสต์ อิสลาม จำนวนมากขึ้น
ดังนั้นรัฐบาลเมียนมาจึงเห็นความสำคัญของการก่อตั้ง “สมาคมชาวพุทธ” และร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ “ศาสนาพุทธ” ดังเช่นมีการลงนามร่วมระหว่าง “สมาคมพุทธเมียนมา” กับ “สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย” จัดตั้ง ABC หรือ (Asian Buddhist Community) มีการจัดงานที่ “เมียวดี” “พระธาตุอินทร์แขวน” ประชาชนที่นับถือพุทธศาสนาให้ความสนใจมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ดร.คิน ฉ่วย ย้ำด้วยว่าการจัดงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง จะทำให้ผู้ที่นับถือพุทธศาสนามี “ศรัทธา” ที่แรงกล้า และไม่เปลี่ยนศาสนา สำหรับการจัดงานธรรมยาตรา ครั้งที่ 2 ในดินแดนของ “เมียนมา” จะจัดขึ้นที่จังหวัด “ท่าขี้เหล็ก” และ “เชียงตุง” ขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ จากนี้จะเป็นการเตรียมการในขั้นสุดท้าย โดยมีความคาดหวังว่าจะทำให้ชาวเมียนมาในพื้นที่เกิดความเลื่อมใส ศรัทธาในพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น
เมียนมา เป็นประเทศที่ 2 ที่ขบวนธรรมยาตราเคลื่อนผ่าน โดยจะเดินทางไปที่ “วัดพระธาตุสายเมือง จังหวัดท่าขี้เหล็ก นมัสการมหาเจดีย์ชเวดากองจำลอง จากนั้นเดินทางต่อไปยัง “เชียงตุง” ที่วัดพระธาตุ Pa Liang และ วัด Ho Khom Parriyatti
ธรรมยาตรา เตรียมเยือน “เดียนเบียนฟู” …รำลึก 65 ปี สมรภูมิสงคราม
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 ขบวนธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ครั้งแรก เคลื่อนผ่านจังหวัดเกียนซาง ทางตอนใต้ของเวียดนาม เกิดภาพประวัติศาสตร์ ขึ้นที่ “จตุรัสฮาเตียน” คือ พุทธศาสนิกชนชาวเวียดนามจำนวนมากหลายพันคน รวมตัวกันใส่บาตรในพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 5 แผ่นดิน นับเป็นครั้งแรกที่กรมการศาสนาเวียดนาม อนุญาตให้เอกชนจากต่างประเทศจัดพิธีตักบาตรในที่สาธารณะ
ในปีนี้ขบวนธรรมยาตรา จะเดินทางไปยัง “จังหวัดเดียนเบียน” ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม มีประวัติศาสตร์กว่า 65 ปีของ “ยุทธการเดียนเบียนฟู” การสู้รบในสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 ระหว่าง “กองทัพรบนอกประเทศภาคพื้นตะวันออกไกลของฝรั่งเศส” กับ “นักปฏิวัติ-ชาตินิยมเวียดมินห์” ยุทธการนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ค.ศ.1954 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศส
แม้ “ยุทธการเดียนเบียนฟู” จะใช้เวลาเพียง 3 เดือน แต่ความสูญเสียที่รัฐบาลเวียดนามระบุคือ กำลังพลเสียชีวิต 4,020 นาย สูญหาย 792 นาย ส่วนฝรั่งเศส กำลังพลเสียชีวิต 2,293 นาย สูญหาย 1,729 นาย มีเชลยศึกเสียชีวิตหลังยุทธการ 8,290 คน
ด้วยเหตุนี้ขบวนธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขงจะเดินทางไปยัง “พิพิธภัณฑ์สงครามเดียนเบียนฟู” เพื่อจัดพิธีสวดอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้เสียขีวิตในยุทธการเดียนเบียนฟู โดยมีเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ จังหวัดเดียนเบียน เป็นประธานในพิธี ในวันที่ 21 ตุลาคม 2562
สปป.ลาว หนุน “ธรรมยาตรา” เพราะเป็น “การทูตภาคประชาชน”
นายแก้วเจริญ เซี่ยยิ่งยาง อธิบดีกรมโฆษณา ศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ สปป.ลาว ซึ่งมาร่วมในการแถลงข่าวงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง ที่ประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 27 กันยายน ชี้แจงว่า ขณะนี้ทาง สปป.ลาวเตรียมความพร้อมสำหรับงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขงกว่า 90% แล้ว โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ชุด รับผิดชอบด้าน พิธีการ สถานที่ การดูแลรักษาความสงบ การประสานงานต่างประเทศ และการประชาสัมพันธ์
อธิบดีกรมโฆษณา สปป.ลาว ระบุว่า “งานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง” ครั้งที่ 2 เป็นงานที่ศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นงานการเมือง ที่เป็น “การทูตภาคประชาชน” ….”ศาสนาพุทธ” เป็นการทูตภาคประชาชน ปัจจุบันมีชาวลาวนับถือศาสนาพุทธกว่า 80% ดังนั้นศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติจึงตระหนักว่า สามารถใช้ “ศาสนาพุทธ” เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาเซียนและประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นับเป็น “ปรากฎการณ์ใหม่” ตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 เป็นต้นมามีการใช้มิติด้าน “ศาสนา” เชื่อมความสัมพันธ์ สปป.ลาว- ไทย และ สปป.ลาว-กัมพูชา แม้บางครั้งจะเกิดความตึงเครียดด้านชายแดน แต่การเมืองภาคประชาชนนั้นไม่มีปัญหาระหว่างกัน
อธิบดีกรมโฆษณา สปป.ลาว ย้ำด้วยว่าใน สปป.ลาว การจัดงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินครั้งแรกเมื่อปี 2560 กับการจัดงานธรรมยาตรา ครั้งที่ 2 ในปี 2562 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14-31 ตุลาคมนี้ มีความแตกต่างกัน เพราะการจัดงานธรรมยาตรา ครั้งแรกที่ สปป.ลาวจัดเฉพาะที่”แขวงจำปาสัก ” แต่งานธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ครั้งที่ 2 ทาง สปป.ลาวให้ความสำคัญมาก จะมีการจัดกิจกรรมทั้งที่นครเวียงจันทน์ และเมืองหลวงพระบาง ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของพุทธศาสนา โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนชาวลาวเข้าร่วมงานให้มากที่สุด
ขบวนธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 2 จะใช้เวลาอยู่ใน สปป.ลาวมากที่สุดกว่า 6 วัน ไฮไลท์อยู่ที่วันที่ 24 ตุลาคม มี “พิธีตักบาตรพระสงฆ์ 5 แผ่นดิน บริเวณเมืองเก่า หลวงพระบาง และวันที่ 26 ตุลาคม จะมี “พิธีตักบาตรพระสงฆ์ 5 แผ่นดิน ณ.วัดพระธาตุหลวง นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีพระอาจารย์ใหญ่มหางอน ดำลงบุน ประธานองค์การพุทธศาสนสัมพันธ์แห่ง สปป.ลาว เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ ดร.ไซสมพอน พมวิหาน ประธานองค์การแนวลาวสร้างชาติ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
ทั้งนี้ทางศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติจะจัด “งานแถลงข่าวธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยอริยสงฆ์ลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 2 ที่ สปป.ลาวด้วย โดยจะเชิญผู้บริหารของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย และชมรมโพธิคยาฯ ร่วมงานแถลงข่าวที่ สปป.ลาว
เตรียมบวงสรวง “ปราสาทนครธม” …รำลึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พิธีเปิดงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ครั้งแรกเมื่อปี 2560 จัดขึ้นที่ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา จากนั้นขบวนธรรมยาตราเคลื่อนผ่านจังหวัดสตรึงเตรง ที่นั่นมีขบวนนักเรียนเยาวชนกัมพูชานับพันคน พร้อมใจกันถือ “ธงชาติกัมพูชา” และ “ธงธรรมยาตรา” เดินเท้าราว 3 กิโลเมตรไปยังจุดที่จัดพิธีการ เป็นภาพที่งดงามแสดงให้เห็นพลังศรัทธาต่อพุทธศาสนาของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในกัมพูชา
จนถึงปี 2562 การจัดกิจกรรมธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 2 ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลกัมพูชา เห็นได้จากการแถลงข่าวกิจกรรมธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง ที่กรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา มีพลเอกเนียงพาท รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นายเขียว กันนะฤทธิ์ รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการและข่าวสาร มาร่วมแถลงข่าวและร่วมคณะเข้าร่วมพิธีเปิดงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินที่ “พระธาตุผาเงา” จังหวัดเชียงรายด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาการและข่าวสาร ของกัมพูชามองว่า โครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ทำให้ 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงผูกพันกันแน่นแฟ้น โดยใช้ “ศาสนาพุทธ” เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง “ภาคประชาชน” ต่อ “ภาคประชาชน” และเมื่อจบโครงการธรรมยาตราแล้ว ได้มอบนโยบายให้ “สื่อกัมพูชา” นำเสนอข่าวเกี่ยวกับ “ศาสนาพุทธ” อย่างต่อเนื่อง
นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำราชอาณาจักรกัมพูชาย้ำว่า “ฮุนมานี” ประธานสมาพันธ์เยาวชนกัมพูชา และเป็นบุตรชายคนที่ 3 ของสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน ให้การสนับสนุนโครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขงอย่างเต็มที่ ขณะนี้ประชากรกว่า 87% ของกัมพูขา อายุต่ำกว่า 30 ปี “ฮุน มานี” จัดเป็น “ผู้นำมวลชน” คนรุ่นใหม่ และยังเป็น Co-Organizer การจัดงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขงด้วย
สำหรับพิธีปิดธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง จะจัดขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 โดยมีสมเด็จพระอัครมหาสังฆราชาฯเทพวงศ์ แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และสมเด็จพิชัยเสนาพลเอกเตีย บัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดย “ไฮไลท์สำคัญ” อีกช่วงคือ พิธีบวงสรวงเจริญพระพุทธมนต์ อริยสงฆ์อริยเจ้า ลุ่มแม่น้ำโขง ณ ปราสาทนครธม ถวายเป็นพระกุศลแด่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในราชอาณาจักรกัมพูชา
การใช้ “พุทธศาสนา” เป็นมิตินำเชื่อมความสัมพันธ์ เป็นการใช้หลัก “สามัคคีธรรม” นำทาง ทำให้พุทธศาสนิกชนแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างด้านชาติพันธ์ ภาษา วัฒนธรรม สามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว เพราะมี “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” เป็นเสมือน “บิดา” องค์เดียวกัน และมี “แม่” คือ “แม่น้ำโขง”เป็นสายธารเชื่อมความสัมพันธ์ 5 ประเทศ