FEATURE

รู้จักอาชีพและงานอดิเรกใหม่ ‘Vtuber’ จัดรายการผ่านการ์ตูนแทนตัวจริง

หลายคนเคยดูและคุ้นเคยกับ “ยูทูบเบอร์” ( Youtuber ) ที่พูดคุยเรื่องราวต่างๆด้วยตัวจริงเสียงจริง  …แต่อาจยังไม่เคยดู “วีทูบเบอร์” ( Vtuber ) หรือ “Virtual Youtuber” ที่นำเสนอสิ่งต่างๆผ่านตัวตนสมมติ ที่เป็นการ์ตูนหรือกราฟฟิกแทนตัวเอง

… ซึ่งตัว V ในคำนี้ ก็ย่อมาจากคำว่า “Virtual’’ ที่แปลว่า “เสมือน” นั่นเอง โดยสร้างหรือวาดมาจากซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์หรือแอพในมือถือ

Vtuber บางคนก็ใช้กราฟฟิกแทนทั้งตัวคนและฉาก  แต่บางคนก็แทนแค่ตัวตน แต่ยังอยู่บนฉากสถานที่จริง  และบางคนก็แทนแค่ใบหน้า 

ซึ่งทั้งใบหน้าและท่าทางร่างกายนี้ มีซอฟต์แวร์ที่สามารถช่วยวาดและสร้างความเคลื่อนไหวให้เหมือนที่ตัวมนุษย์จริงๆทำเป็นต้นแบบให้  …โดยมีทั้งแบบลายเส้น 2 มิติแบนๆ และทั้งแบบมีแสงเงา 3 มิติเสมือนจริงด้วย

ทั้งนี้ VTuber ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นลายเส้นแนวการ์ตูนญี่ปุ่น ( อนิเมะ ) โดยจะมีการกำหนดเรื่องราวและประวัติความเป็นมา เสมือนว่ามีตัวตนจริงๆกันเลย

สร้างได้ทั้งแบบสมัครเล่นขำๆ และแบบอาชีพจริงจัง

วิธีการผลิตคอนเทนต์รายการ Vtuber นั้น ถ้าเป็นรายการมืออาชีพ หรือจากบริษัทต่างๆ ก็จะมีทีมงานวาดและพากย์กันอย่างจริงจัง  

แต่ถ้าเป็น Vtuber อิสระ ก็สามารถใช้ซอฟต์แวร์หรือแอพแนว live filter ช่วยสร้างใบหน้าการ์ตูนมาบังใบหน้าจริง โดยมีการขยับปากและหันไปมาได้ตรงกับตัวจริงทันที  

เครื่องมือที่ใช้  ถ้าเป็นมือสมัครเล่น แค่เริ่มต้นขำๆ ก็อาจใช้ฟิลเตอร์หน้าการ์ตูนหรือหน้าแมวหน้ากระต่ายฯลฯ ซึ่งอาจเรียกกันว่า “Emoji Filter” หรือ “Animoji” ในแอพไลฟ์สดต่างๆก่อน  

ซึ่งฟิลเตอร์เหล่านี้ มีมาให้ฟรีกับแอพไลฟ์สดดังๆอยู่แล้ว  รวมถึงแอพถ่ายรูปโซเชียลเช่น Instagram, Tiktok, Snapchat, ฯลฯ  โดยตัวแอพมีระบบรับรู้การเคลื่อนไหวและการแสดงออกทางสีหน้าเพื่อปรับ“หน้ากากดิจิตัล” ตามได้แบบรีลไทม์

ส่วนเรื่องของเสียงพูดนั้น ก็ทำได้ทั้งมีคนอื่นพากย์, พากย์เอง, หรือใช้เสียงจริงผ่านเครื่องแปลงเสียง, ซอฟต์แวร์เปลี่ยนเสียง, หรือแอพแปลงเสียงต่างๆก็ได้

ซึ่งสำหรับหลายๆคน เป็น Vtuber แล้วรุ่งกว่าเป็น Youtuber มาก  เพราะอาจจะเก่งเรื่องการเรียบเรียงถ่ายทอดเนื้อหาให้สนุกสนานหรือน่ารักจับใจคนมากมาย    แต่ว่าหน้าตาคาแรคเตอร์ไม่โดดเด่นพอ หรือไม่กล้าแสดงออกพอที่จะถูกใจคนจำนวนมากได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ตัวการ์ตูนที่เลือกใช้ อาจจะเป็นมนุษย์, คล้ายมนุษย์, เป็นสัตว์น่ารัก, เป็นหุ่นยนต์, หรือเป็นอะไรก็ได้ตามแต่จะดีไซน์มาให้ถูกใจผู้ชมและเหมาะสมกับเนื้อหา

และถ้าขยับขึ้นไปสู่ระดับมืออาชีพ หรือเป็นระดับบริษัทผลิตการ์ตูนสร้างขึ้น  ก็มักใช้ซอฟต์แวร์เพื่อการนี้โดยตรง เช่น “VRoid Studio” ( “วีรอยด์ สตูดิโอ” ), “Vtube Studio” ( “วีทูบ สตูดิโอ” ), “FaceRig” ( “เฟส-ริก” ), หรือ “Wakaru” ( “วาคารุ” ) เพื่อสร้างหน้าตาและรูปร่างที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง รวมถึงสร้างฉากต่างๆขึ้นด้วย

บางบริษัทที่ทำ Vtuber จริงจัง ถึงกับมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า “motion capture suit” คือมีชุดของเซ็นเซอร์แปะทั่วร่างกายคน แล้วให้คนนั้นทำท่าทางเพื่อเป็นต้นแบบให้ตัวการ์ตูน 3D ไปขยับตามนั้นเป๊ะๆ เพื่อให้มีความคล้ายคนจริง

ทำเงินได้ตั้งแต่ระดับสมัครเล่น ไปถึงระดับมืออาชีพ และระดับบริษัท

สำหรับเรื่องรายได้นั้น ก็ไม่ต่างจาก Youtuber ที่เป็นคนปกติทั่วไป  คือมาได้จากหลายทาง ทั้งส่วนแบ่งค่าโฆษณาจากแพลตฟอร์มเช่น Youtube, เงินเปย์จากแฟนๆเช่น “ให้ดาว’ ในยูทูบหรือ “ส่งของขวัญ” ในแอพไลฟ์สดอื่นๆ เป็นต้น

ซึ่งถ้าเป็นปัจเจกบุคคล รายได้ก็คล้าย Youtuber หรือ Vlogger ทั่วไป คือส่วนหนึ่งเข้ากระเป๋าเจ้าของช่องเอง และอีกส่วนก็โดนเจ้าของแพลตฟอร์มเช่น Youtube, Facebook, ฯลฯ หักส่วนแบ่งไป

นอกจากว่าถ้าเจ้าของช่องรับงานรีวิวสินค้า หรือพูดเชียร์แบรนด์ต่างๆเอง  ก็จะได้รายได้เองอีกส่วนหนึ่งไป ไม่ต่างจากในโลกของยูทูยบเบอร์ตัวจริง

แต่ถ้าเป็นระดับบริษัท  รายได้ที่เกิดขึ้น ก็มีการจัดแบ่งให้ฝ่ายต่างๆอย่างเป็นระบบ  คล้ายรายได้จากการผลิตการ์ตูนเรื่องหนึ่งนั่นเอง

ซึ่งในหลายๆบริษัท  ก็ไม่มีใครคนใดคนเดียวที่อยู่เบื้องหลัง “ตัวการ์ตูน” นั้นๆ  แต่เป็นทีมงานจำนวนมากทั้งนักวาด นักเขียนบท  นักออกแบบท่าทาง  นักลงเสียง  ทีมเทคนิค ทีมแต่งเพลง ฯลฯ ประสานกันอยู่เบื้องหลังการ์ตูน Vtuber ตัวเดียว

บางตัวอย่างจากญี่ปุ่นและทั่วโลก

VTuber รายแรกๆที่เปิดกระแสนี้ชื่อ “Ami Yamato” ซึ่งเป็นสาวญี่ปุ่นที่อาศัยในประเทศอังกฤษ ที่เริ่มทำคอนเทนต์แบบนี้ลงยูทูบในปี 2011 โดยแสดงเป็นตัวละครที่เป็นกราฟฟิก 3 มิติ  ซ้อนอยู่บนฉากจริง 

และในญี่ปุ่นก็ยังมี VTuber ชื่อดังรายแรกๆชื่อ “Kizuna AI”  ซึ่งใช้ลายเส้นแบบการ์ตูนญี่ปุ่นแท้ๆ เนื้อหามีทั้งการเล่นเกม, พูดคุย, ตอบปัญหาชีวิต, สอนออกกำลังกาย, ฯลฯ 

นอกจากนั้นยังมี Vtuber อีกหลายรายตามมา เช่น Kagura Luna, Mirai Akari, Dennou Shojo Siro, และNojaloli 

และเมื่อได้รับความนิยม  ก็ทำให้ Vtuber เหล่านี้บางคนได้งานอื่นๆ เช่นโฆษณาทีวี โฆษณาวิทยุ เป็นนักร้อง ฯลฯ  

ซึ่งการเป็นนักร้องนี้ มีลักษณะคล้ายวงไอดอล AKB 48 หรือ BNK 48 โดยที่ดังในโลก Vtuber คือ“hololive Project”  ของบริษัท Cover Corporation 

เมมเบอร์แต่ละคนในวงมีบุคลิกลักษณะส่วนตัวต่างกัน เพื่อให้แฟนๆได้เลือกชื่นชอบหรือ “โอชิ” แต่ละคนกันไป เช่น Usada Pekora, Uruha Rushia, Inugami Korone, Shirakami Fubuki และ Hoshimachi “Psychopath” Suisei 

วง hololive มีแฟนๆทั้งในญี่ปุ่น, จีน, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, สเปน, สหรัฐฯ, อังกฤษ และไทยด้วย ซึ่งนอกจากเพลง ก็ยังมีการไลฟ์เล่นเกม, พูดคุยทั่วไป, และอื่นๆ

นอกจากนั้นยังมีวงอื่นๆ เช่น Nijisanji ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 ซึ่งถึงทุกวันนี้มีสมาชิกวงกว่า 100 คนแล้วโดยคอนเทนต์มีทั้งร้องเพลง, เล่าเรื่องตลก, เป็นแขกรับเชิญ DJ, ไลฟ์สตรีมเล่นเกม และพูดคุย

Vtuber ส่วนใหญ่นี้พูดภาษาญี่ปุ่น  แต่หลายๆรายที่อยู่ในยูทูบก็ทำ sub ไทยไว้  หรือบางรายถ้าไม่มี  ก็อาจมีแฟนคลับไทยดึงบางตอนมาทำซับไทยแล้วลงไว้เองก็มี 

…แต่ก็มี  Vtuber บางรายที่พูดภาษาอังกฤษล้วนตั้งแต่ต้นฉบับ  เช่น “Sapphy Stars” 

ส่วนในไทยก็มี Vtuber เช่นกัน  ตัวอย่างเช่น 2 ค่ายดังด้านนี้คือ “Polygon” ( เว็บไซต์ plg.tv ) และ Pixela ( เว็บไซต์ pixela.me )

จะเห็นได้ว่าตัวอย่างมีหลากหลายมาก  ซึ่งหากใครอยากเห็นครบทุกตัวที่ว่าไป  ก็ลองไปเสิร์ชหาดูตามชื่อกันได้เลย  โดยอาจจะเพิ่มคำว่า Vtuber ต่อท้ายไปด้วยเวลาเสิร์ช เพื่อความแม่นยำ

ซึ่งแม้ “พิธีกรเสมือน” จะมีมานานแล้ว  แต่ก็เพิ่งเป็นที่นิยมและเรียกกันว่า “Vtuber” และเกิด Vtuber ใหม่ๆขึ้นมากมายทั่วโลกก็ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง

ต่อยอดสู่วงการโฆษณาในปัจจุบัน และโลกเมตาเวิร์สในอนาคต

จุดเด่นของ Vtuber ส่วนใหญ่ คือความน่ารักสดใส ตามสไตล์การ์ตูนญี่ปุ่น  โดยสามารถสร้างให้น่ารักสดใสและมีบุคลิกตรงใจแฟนๆได้ตามต้องการ โดยไม่ต้องสรรหาคนจริงๆ หรือฝึกคนจริงๆมาแต่อย่างใด

และเมื่อปรับแต่งได้ดังใจ  จึงมีบางแบรนด์สินค้า สร้าง Vtuber ขึ้นมาเพื่อเป็นพรีเซ็นเตอร์ นำเสนอสินค้าและภาพลักษณ์แบรนด์ให้ได้ตรงตามโจทยืที่สุด  โดยเรียกว่ารับบทบาทเป็น Virtual Influencer ด้วย

ส่วนตัวบุคคลจริงเจ้าของเสียงพูดและท่าทางของ Vtuber  นั้น บางคนก็ปิดบังไว้  แต่บางคนก็เปิดเผยโดยบางตัวละครที่สร้างโดยบริษัทใหญ่ๆนั้นอาจมีทีมงานเบื้องหลังหลายๆคนก็ได้

และในอนาคตอันใกล้  เมื่อเมตาเวิร์สหรือโลกเสมือนเป็นที่นิยมกันมากขึ้น  บรรดา Vtuber ก็จะมีพื้นที่สื่อมากขึ้น  เพราะสภาพแวดล้อมในนั้นเข้ากันได้ดีกับการมี Vtuber เข้าไปจัดรายการและโลดแล่นในอีกมิติ

ข้อมูลและภาพประกอบจาก
en.wikipedia.org/wiki/Vtuber
techradar.com/how-to/how-to-be-a-vtuber
japantimes.co.jp/news/2018/07/17/national/japans-latest-big-thing-virtual-youtubers
virtualhumans.org/article/who-is-virtual-influencer-and-famous-vtuber-ami-yamato
knowtechie.com/top-10-virtual-youtubers-you-should-probably-be-watching
nintendolife.com/news/2021/10/random-vtuber-korone-plays-gyro-enabled-gba-title-warioware-twisted-with-a-gamecube

Related Posts

Send this to a friend