BUSINESS

พาณิชย์อีสานเดินหน้าดัน “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” ติดมาตรฐาน GI มากขึ้น

พาณิชย์อีสานเดินหน้าดัน “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” ติดมาตรฐาน GI มากขึ้น
หวังเพิ่มมูลค่าและสร้างยอดขายให้เติบโตทั้งจากตลาดในและต่างประเทศ  

 
 นางเกศินี พวงประดิษฐ์ พาณิชย์จังหวัดสกลนคร ในนามสำนักงานพาณิชย์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ดำเนินแผนงานประชาสัมพันธ์หนึ่งในโครงการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อีสานสู่สากล เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นว่า สินค้า GI ของภาคอีสานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสินค้า GI เป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ และมีคุณภาพสูงตามเกณฑ์ประเมินการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  

รวมทั้งสินค้า GI  เหล่านี้มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จึงมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสกลนครและกลุ่มสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คัดสรรสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI และมีศักยภาพทางการตลาด เผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และประชาสัมพันธ์สร้างโอกาสทางการค้า ผ่านสื่อทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้สินค้า GI อีสานได้มีโอกาสเติบโตทั้งในประเทศและสู่สากล

ด้านพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ มีการเพาะปลูกกันมานานแล้ว  และได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติมาก  จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทุเรียนกันมากขึ้น  ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษมีการเพาะปลูกทุเรียนภูเขาไฟใน 3 อำเภอ ได้แก่   อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุนหาญ  และอำเภอศรีรัตนะ

สำหรับปี 2565  มีพื้นที่ปลูกทุเรียนภูเขาไฟรวม  15,111  ไร่  ให้ผลิตรวม  8,353  ตัน  ราคาขายเพิ่มขึ้นประมาณ  180-220  บาท/กิโลกรัม  หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ  ราว  15-30%  ทุกปี  ซึ่งทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ   เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี พันธุ์ก้านยาว มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวจากการปลูกในสภาพดินภูเขาไฟที่มีแร่ธาตุหลายชนิด ทำให้ผลผลิตมีความพิเศษ คุณภาพสูง รสชาติหวานมัน กลิ่นหอมปานกลาง เนื้อละเอียด เนียนนุ่ม แห้ง เนื้อเหลืองสม่ำเสมอทั้งผล เปลือกบางสีเขียวอมเหลือง หนามค่อนข้างถี่ เมล็ดเล็ก

นอกจากนี้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ ยังได้ส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรในด้านการตลาด  เพิ่มช่องทางการขายด้วยการจัดงานตามฤดูกาลให้ประชาชนได้เข้าถึงการซื้อทุเรียนภูเขาไฟได้ง่ายขึ้น ในปีนี้ผลผลิตที่ขายได้ในช่องทางหลายๆ ช่องทาง ได้แก่  ขายให้ล้ง  64 % ขายผ่าน Online  4 %  ชาวสวนจำหน่ายเอง 32 %  รวมทั้งการส่งเสริมการขายโดยการจัดงาน “เทศกาลผลไม้สดจากสวน ทุเรียนภูเขาไฟ  เกษตรปลอดภัยและ GI อีสาน”  ในห้างสรรพสินค้าที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อเดือนที่ผ่านมา เป็นต้น

นายเวียง สุภาพ เจ้าของสวนลุงเวียง ประธานกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาการผลิตทุเรียนในพื้นที่อำเภอขุนหาญ  มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 12 ไร่ปลูกได้ 100 กว่าต้น พันธุ์ทุเรียนที่ปลูก ได้แก่  ก้านยาว ชะนีไข่   พวงมณี หมอนทอง นกกระจิบ นอกจากจะได้ดูแลบำรุงรักษาที่ดีแล้ว  ทางสวนยังได้รับคำแนะนำจากสำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัด ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ให้ผลิตทุเรียนในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้ได้ทุเรียนดีมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดผู้บริโภค และได้รับการส่งเสริมพัฒนาการผลิตทุเรียนเพื่อให้ได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพคิว (Q) ที่บ่งบอกว่าเป็นทุเรียนคุณภาพดีได้มาตรฐาน

ด้าน นายชนินทร  ท้าวธงชัย  เจ้าของสวนบุญส่งทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาการผลิตทุเรียน ในพื้นที่อำเภอขุนหาญ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สวนบุญส่งได้รับคำแนะนำจากมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ ได้ทำการศึกษาวิจัยการถนอมทุเรียนและแปรรูปทุเรียนสู่การเพิ่มมูลค่า ในช่วงที่ผ่านมามีผลผลิตออกมาค่อนข้างมาก สวนบุญส่งจึงได้พัฒนาแปรรูปเป็นทุเรียนไอศกรีม  ทุเรียนกวนและทุเรียนแช่แข็ง ทำให้สามารถมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนขายได้ตลอดปีและลูกค้าสั่งสินค้ามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงอัตลักษณ์เฉพาะทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ  “กรอบนอก นุ่มใน หวานมัน ละมุนลิ้น กลิ่นไม่ฉุน”

สำหรับสินค้า GI ที่โดดเด่นของภาคอีสาน 18 แห่ง ภายใต้ชื่อ “GI ของดีอีสาน มาตรฐานโลก” ประกอบด้วย สินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป เครื่องปั้นดินเผา และผ้าทอมือ ได้แก่ ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ GI จ.นครราชสีมา ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ GI จ. ศรีสะเกษ สับปะรดท่าอุเทน GI จ. นครพนม ผ้าหมักโคลนหนองสูง GI จ. มุกดาหาร ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ GI จ.กาฬสินธุ์ น้ำหมากเม่าสกลนคร GI จ. สกลนคร ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร GI จ.สกลนคร

เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง GI จ.อุดรธานี กล้วยตากสังคม GI จ.หนองคาย, ส้มโอทองดีบ้านแท่น GI จ. ชัยภูมิ ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท GI จ. ขอนแก่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ GI วิสาหกิจชุมชนศูนย์ผลิตข้าวพันธุ์บ้านสระแคน จ. มหาสารคาม ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ GI เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อม จ. ยโสธร ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี GI จ. อุบลราชธานี ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ GI จ. สุรินทร์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ GI กลุ่มข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้อำเภอเกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง GI ศรีสะเกษ และ ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ GI  จ. บุรีรัมย์


 

Related Posts

Send this to a friend