‘กนง.’ ส่งสัญญาณ อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ
น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า เงินเฟ้ออาจพุ่งสูงสุดในไตรมาส 3/2565 ซึ่งจะทำให้ คณะกรรมการนโยบายการเงินแห่งชาติ (กนง.) อาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง เข้าหาระดับ 1.0% ภายในสิ้นปีนี้ เทียบกับ 0.5% ในปัจจุบัน แต่คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของฝั่งเงินฝากและเงินกู้ตามในทันที จากสภาพคล่องส่วนเกินยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อส่งผลให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นและหนี้อาจเติบโตเฉลี่ยปีละ 3-4%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินว่า ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นจะกระทบบางผลิตภัณฑ์ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ผ่อนระยะยาว แต่ผู้กู้ซื้อบ้านและกู้ซื้อรถน่าจะเป็นกลุ่มที่มีความทนทานต่อภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้ เพราะดอกเบี้ยไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก
ด้านเกียรตินาคินภัทร ออกบทวิเคราะห์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และผลกระทบต่อภาวะหนี้ครัวเรือนของไทย โดยระบุว่า เมื่อเงินเฟ้อกลับมาจนนโยบายการเงินต้องกลับมาตึงตัวอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน และอัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จากหนี้ที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่มีหนี้ในระดับสูงเช่นกัน โดยกลุ่มที่มีความน่ากังวลมากที่สุด คือ หนี้ในภาคครัวเรือน ที่ในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นเกิน 90% ของ GDP และสูงเป็นลำดับที่ 11 ของโลก เนื่องจากภาคครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
KKP Research ประเมินว่า ในสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ชัดเจนขึ้น และอาจเข้าสู่วัฏจักรเศรษฐกิจขาลงที่ยาวนาน โดยผลกระทบจะเกิดจากภาระหนี้ที่จะปรับสูงขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือดอกเบี้ยแบบผันแปร เช่น สินเชื่อสำหรับธุรกิจ ซึ่งอยู่ในระดับประมาณ 34% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นจะทำให้การบริโภคเติบโตช้าลง หนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจะเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจน ในช่วงหลังจากนั้นประมาณ 3-5 ปี
ขณะที่การกระตุ้นการ บริโภคด้วยหนี้จะถึงทางตัน หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะใช้คืนหนี้ หรือ Deleverage โดยเริ่มชำระหนี้คืนจนหนี้ต่อ GDP เริ่มปรับตัวลดลง จะทำให้แรงส่งต่อการบริโภคหายไปประมาณ 1.3% และเศรษฐกิจเติบโตแบบชะลอลงไปประมาณ 0.7% หรือทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ช้าและซึมยาว
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ณ สิ้นปี 2564 ว่า ดส่วนหนี้ส่วนใหญ่ของครัวเรือน 3 อันดับแรก ยังคงเป็นเงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย มีสัดส่วน 34.5% ของหนี้ครัวเรือนรวม ตามด้วยเงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ สัดส่วน 18.1% ของหนี้ครัวเรือนรวม และเงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ สัดส่วน 12.4% ของหนี้ครัวเรือนรวม
ด้านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประเมินว่า ปีนี้ กนง.คงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2-3 ครั้ง รวมขึ้นไม่เกิน 0.5% ขณะที่บอร์ด ธอส. มีมติให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด หากตลาดขึ้น 0.25% ธอส.จะขึ้นเพียง 0.5% และรอบปรับดอกเบี้ยของ ธอส.อาจเป็นช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เนื่องจาก ธอส.มีฐานะการเงินแข็งแกร่งสามารถนำกำไรส่วนเกินมาอุ้มลูกค้าตามนโยบายรัฐบาลได้