รพ.ศูนย์บุรีรัมย์ แถลงยอมรับ รักษาล่าช้า ทำ ‘น้องต้นน้ำ’ เสียชีวิตหลังผ่าไส้ติ่ง
วันนี้ (6 มิ.ย.65) ที่โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ นายแพทย์รักเกียรติ ประสงค์ดี รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ แถลงกรณีกรณีครอบครัวของเด็กชายกิตติศักดิ์ หรือน้องต้นน้ำ กรมไธสง อายุ 12 ปี ร้องเรียนผ่านสื่อว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แพทย์ปล่อยให้เวลาล่วงเลยนานถึง 2 วัน จึงเข้าทำการรักษาลูกชาย โดยไม่ยอมผ่าตัด ทั้งที่โรงพยาบาลต้นทางระบุชัดว่า ลูกชายไส้ติ่งอักเสบ ทำให้ลูกชายต้องเสียชีวิตหลังผ่าตัด
นายแพทย์รักเกียรติ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่าน้องต้นน้ำมีอาการปวดท้องน้อยขวามาประมาณ 1 วัน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทไธสง หมอระบุว่าไส้ติ่งอักเสบ ก่อนส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ โดยแพทย์ได้ตรวจประเมินซ้ำ และวินิจฉัยว่าไส้ติ่งอักเสบเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ แพทย์ได้เซ็ตเวลาผ่าตัดไว้ที่ 17.00 น. ของวันที่ 29 พ.ค. 65 ต่อมาพบว่าอาการของน้องเปลี่ยนแปลง มีหัวใจเต้นแรงขึ้น หมอได้เพิ่มน้ำเกลือ ประกอบผู้ป่วยมีความสูง 163 น้ำหนัก 83 กิโลกรัม อยู่ในสภาวะน้ำหนักมาก ต่อมาเวลา 23.30 น. น้องเข้าห้องผ่าตัด แต่ในขณะนั้น ห้องผ่าตัดซึ่งมี 3 ห้อง มีคนไข้รอผ่าตัดอยู่ทั้งหมด ต่างเป็นเคสเร่งด่วนและอาการหนัก แต่การประสานงานของหมออาจไม่ตรงกัน ทำให้พนักงานเปลเข็นน้องเข้าไปในห้องผ่าตัด
จากการประเมินของหมอ ไม่ทราบได้ว่า การผ่าตัดเคสก่อนหน้าจะเสร็จสิ้นตอนไหน หรือจะใช้เวลานานแค่ไหน เพราะไม่สามารถกำหนดเวลาได้ การจะให้น้องรอในห้องผ่าตัดอาจจะไม่ปลอดภัย จึงแจ้งไปยังหอผู้ป่วย ขอส่งตัวน้องกลับไปที่ห้องก่อน
ต่อมา แพทย์พบว่าน้องมีอาการหายใจเร็วขึ้น ตรวจพบภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ขณะที่ผลจากการผ่าตัด พบว่าพบไส้ติ่งแตก มีหนองอยู่โดยรอบ ประมาณ 100 ซีซี การผ่าตัดเสร็จเวลาประมาณ 14.00 น. ใช้เวลาในการผ่าตัด 45 นาที เนื่องจากสภาพก่อนผ่าตัดมีภาวะแย่ลง และมีการติดเชื้อในกระแสเลือด จึงส่งเข้ารักษาที่ห้องไอซียู จากนั้นหัวใจน้องหยุดเต้นในเวลา 02.25 น.ของวันที่ 31 พ.ค. 65
ส่วนประเด็นที่ผู้ปกครองติดใจว่า มีเคสพิเศษแทรกคิวของน้องหรือไม่ นายแพทย์รักเกียรติ ระบุว่า จากการสอบสวน ทราบว่าไม่มีเคสพิเศษใดๆในโรงพยาบาล ทุกเคสมีหลักฐานประกอบ และเป็นเคสที่มีความเร่งด่วน และมารับบริการก่อนหน้า โรงพยาบาลขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของน้อง พร้อมยอมรับว่ารักษาล่าช้า จากนี้ทางโรงพยาบาลจะไปขอขมาผู้ปกครองของน้อง ส่วนการเยียวยา จะเข้าไปสอบสวนในเชิงลึกว่า สามารถช่วยเหลือครอบครัวเด็กตาม พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางสาธารณสุข ได้มากน้อยแค่ไหน