HEALTH

5 องค์กรวิชาชีพแพทย์ ออกคำชี้แจง “โรคฝีดาษลิง”

สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรค การระบาด และการป้องกัน

5 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ ประกอบด้วย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย , ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย , สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย , สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และ สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ออกคำชี้แจงกรณีโรคฝีดาษลิง โดยระบุว่า

ด้วยสถานการณ์ตามที่ปรากฎเป็นข่าว ที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า มีการระบาดของโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ในประเทศอังกฤษ แคนาดา สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศที่ไม่เคยเป็นแหล่งระบาดของโรคนี้มาก่อน ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ สร้างความเสียหายในหลายด้านคล้ายกับโควิด-19 นั้น องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ขอให้ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจและทราบถึงวิธีปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย และสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างปกติ ดังนี้

  1. โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะ ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอาฟริกา แล้วแพร่ไปสู่สัตว์ชนิดอื่น มีรายงานครั้งแรกคือการติดเชื้อในลิงที่เลี้ยงไว้เป็นสัตว์ทดลอง จึงเรียกว่า ฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ซึ่งสัตว์ตระกูลลิงไม่ใช่แหล่งรังโรค และยังไม่มีรายงานการพบเชื้อนี้ในสัตว์ประเภทฟันแทะในประเทศไทย
  2. การติดเชื้อที่มีรายงานในอดีต มักเกิดในสัตว์เลี้ยงหรือคนที่อยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ฟันแทะ แต่การระบาดที่เกิดขึ้นขณะนี้ ยังไม่ทราบต้นตอที่แน่ชัด คาดว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงกับสัตว์ป่าในทางใดทางหนึ่ง ยังต้องรอการสอบสวนโรคอีกระยะเวลาพอสมควรก่อนที่จะชี้ชัดได้ว่าการระบาดมีมาจากสาเหตุใด
  3. การแพร่เชื้อจากผู้ป่วย อาจเริ่มตั้งแต่มีอาการไข้ โดยจะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้มากที่สุดในช่วงระยะเวลาที่มีตุ่มน้ำตามตัว ต่างจากโควิด-19 ที่สามารถแพร่ได้แม้ผู้ติดเชื้อยังไม่มีอาการ ดังนั้นจึงสามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสโรคได้ง่ายกว่า
  4. การระบาดในประเทศต่างๆ ยังไม่กว้างขวางมากถึงจุดที่จะต้องห้ามการเดินทางเข้ามาของคนจากประเทศนั้นๆ อย่างไรก็ตาม หากพบนักเดินทางจากประเทศที่มีรายงานการพบโรค มีอาการไข้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ แนะนำให้ไปรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้ที่มีผื่นและตุ่มน้ำใสตามแขนขาและใบหน้าหลังจากมีไข้แล้ว 2-3 วัน
  5. ถ้ามีการติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะหายได้เองโดยไม่ทิ้งร่องรอยใดๆ ไว้ตามร่างกายหากไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำอาจมีอาการรุนแรง องค์การอนามัยโลกระบุว่าโรคนี้มีอัตราตายประมาณ 3.6%
  6. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับนักเดินทางที่มีอาการตามข้อ 4 และมาจากประเทศที่มีรายงาน
  7. การสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย และการล้างมือหลังการสัมผัสผู้ป่วย เป็นวิธีการที่ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ดี
  8. หลีกเลี่ยงการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือบริโภค เพราะอาจนำเชื้อก่อโรคชนิดใหม่ ๆ รวมทั้งฝีดาษวานรมาติดและแพร่ระบาดได้
  9. วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ จะป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ด้วย แต่เนื่องจากประเทศไทยหยุดฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษมาแล้วเกือบ 50 ปี ดังนั้นผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี น่าจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้จากการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ แต่ผู้ที่อายุน้อยกว่าจะไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่มีโอกาสที่โรคนี้จะแพร่ระบาดมาถึงประเทศไทยได้น้อย จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะต้องเร่งรีบหาวัคซีน

Related Posts

Send this to a friend