ก.ล.ต.เผยยอดผู้เสนอขาย IPO ปี 64 สูดสุดในรอบ 4 ปี
ก.ล.ต. เผยยอดผู้เสนอขาย IPO ปี 64 สูดสุดในรอบ 4 ปี พร้อมส่งเสริมตลาดทุนรองรับการระดมทุนของภาคธุรกิจ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ปัจจุบันประชาชนมีโอกาสเข้าถึงวัคชีน ได้มากขึ้น และภาคธุรกิจหลายแห่งเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ สะท้อนในสภาวะเศรษฐกิจรวมถึง ตลาดทุนของไทยที่เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเห็นได้จากจำนวนบริษัทที่ระดมทุนผ่านการเสนอขายหลักทรัพย์ ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และบริษัทที่ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา
ในปี 2564 มีบริษัทที่ออก IPO มากถึง 41 หลักทรัพย์ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงสุดในรอบ 4 ปี และเพิ่มขึ้น 52% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ที่มีจำนวน IPO 27 หลักทรัพย์ รวมทั้งบริษัทที่ยื่นคำขออนุญาตเสนอขาย IPO ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในปี 2564 ก็พบว่ามีจำนวนเพิ่มเช่นกันซึ่งมี 45 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2564) เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีจำนวน 39 บริษัท แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้ลงทุนที่มีสภาพคล่องส่วนเกิน พร้อมที่จะลงทุน และยังแสดงให้เห็นมุมมองเชิงบวกของผู้ประกอบธุรกิจต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย รวมทั้งเป็นสัญญาณว่าผู้ประกอบธุรกิจสามารถพึ่งพาตลาดทุนเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับเพิ่มสภาพคล่องและ ความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตได้
หากพิจารณาในด้านมูลค่าการเสนอขาย IPO ของปี 2564 ก็สูงถึง 1.37 แสนล้านบาท ซึ่งสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นรองเพียงแค่ประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีอีก 23 หลักทรัพย์ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคำขออนุญาตฯ หรือได้รับอนุญาตแล้วแต่ยังไม่ได้เสนอขาย IPO
เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของบริษัทที่เสนอขาย IPO ในปี 2564 โดยแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการระดมทุนสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มทรัพยากร (จำนวน 3 บริษัท, คิดเป็นมูลค่าการเสนอขายรวม 42.6%) กลุ่มธุรกิจการเงิน (จำนวน 3 บริษัท, 29.1%) และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (จำนวน 11 บริษัท, 12.3%) ตามลำดับ โดยในช่วงปีที่ผ่านมาแม้ว่าจะยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 แต่สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้หลายบริษัทมองถึงการกลับมาฟื้นตัวของอุปสงค์ระยะยาวในอนาคต เช่น อุปสงค์ความต้องการ ด้านพลังงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาขยายตัวและการขนส่งและเดินทาง ที่เพิ่มขึ้น และเมื่อเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การจับจ่ายใช้สอยและการขยายตัวของสินเชื่อก็จะโต ตามไปด้วย
นอกจากนี้ สถานการณ์ COVID-19 ยังส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เช่น อุปสงค์ของที่อยู่อาศัย ในแนวราบที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงการระบาดของโรคดังกล่าว ผู้อยู่อาศัยจะใช้เวลาเฉลี่ยต่อวัน ในการอยู่บ้านมากขึ้นจากแนวโน้มการทำงานจากที่บ้าน (work from home) ซึ่งที่อยู่อาศัยแนบราบแบบบ้านเดี่ยวหรือทาวน์โฮมสามารถตอบโจทย์ในเรื่องพื้นใช้สอยของผู้อยู่อาศัยได้มากกว่า
จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดทุนของประเทศไทยเป็นแหล่งระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและโดดเด่นในสายตาของนักลงทุน และ ก.ล.ต. มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตลาดทุนให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป