BUSINESS

ผู้ส่งออกอาหารแช่แข็ง-ผักผลไม้ ต้นทุนพุ่ง หลังจีนออกกฎให้ตรวจโควิดพนักงานทุกคน

ผู้ส่งออกอาหารแช่แข็ง-ผักผลไม้ ต้นทุนพุ่ง หลังจีนออกกฎ “ต้องตรวจ RT-PCR พนักงาน 100% ทุก 14 วัน” กันโควิด-19 ปนเปื้อน

สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ออกข้อกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ผู้ส่งออกสินค้าไปยังจีน ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก กลาง หรือใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแช่แข็ง ปฏิบัติตามมาตรฐานของจีน ดังนี้

1) หากตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 ในสินค้าอาหารแช่เย็นหรือแช่แข็งที่นำเข้าไปจีน ผู้ผลิตรายนั้นจะถูกประกาศระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราว
2) ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทย ยกระดับความเข้มข้นตามมาตรการป้องกันควบคุมการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 มีการขนส่งโดยห่วงโซ่ควบคุมความเย็นและปฏิบัติตามคำแนะนำของ FAO และ WHO
3) ขอให้ฝ่ายไทยจัดทำระบบการแจ้งเตือนการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ให้สมบูรณ์ โดยเมื่อพบการติดเชื้อในพนักงานหรือปนเปื้อนในสินค้าของโรงงานผู้ผลิตรายใด ขอให้ประกาศหยุดการผลิตและส่งออกสินค้าไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน (self-ban) และแจ้งให้ GACC ทราบทันที ส่วนการจะส่งออกใหม่อีกครั้ง ผู้ผลิตจะต้องทำแผนการแก้ไขผ่าน Competent Authority (CA) เพื่อส่งให้ GACC พิจารณา ซึ่งหาก GACC พิจารณาแล้วว่า การแก้ไขดังกล่าวมีประสิทธิภาพจะประกาศอนุญาตให้มีการนำเข้าได้ใหม่ ทั้งนี้ หากโรงงานผู้ผลิตรายใดพบพนักงานติดเชื้อหรือปนเปื้อนในสินค้าและไม่แจ้งตามที่ GACC กำหนด ฝ่ายจีนจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการห้ามนำเข้าสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตนั้น ๆ ต่อไป

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวถึงมาตรการดังกล่าวว่า ว่า จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกโดยเฉพาะรายกลางและรายเล็กทันที โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น อย่างการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ให้ใช้วิธี RT-PCR กับพนักงานในโรงงาน จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ตกประมาณ 1,100–3,000 บาทต่อคน หรือกรณีตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในผลิตภัณฑ์ประมงจากบริษัทที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม อาจทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้ยาก ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าประมงของไทยทั้งระบบ

ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้ส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งของไทยไปยังจีน ต้องแบกรับภาระต้นทุนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ใน 2 เรื่องหลัก คือ กรณีจีนมีเงื่อนไขให้ทุกโรงงานต้องตรวจคัดกรองโดยวิธี RT-PCR กับพนักงานทุกคน ทุก 14 วัน ซึ่งต้นทุนการตรวจ RT-PCR ในโรงพยาบาลเอกชน ตกครั้งละประมาณ 2,800 บาทต่อคนต่อครั้ง เท่ากับว่า บริษัทจะมีต้นทุนจากมาตรการนี้เพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 6,000 บาทต่อพนักงาน 1 คน ผู้ประกอบการจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจรจากับกับทางการจีน ขอตรวจด้วย ATK แทน เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่ล่าสุด ทางการจีนตอบกลับว่าไม่ยินยอม

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเจอปัญหาความล่าช้าในการตรวจปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือของจีน หลังจากจีนเพิ่มความเข้มงวดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่จะผ่านเข้าประเทศ ด้วยการเปิดทุกกล่องบรรจุสินค้า เพื่อตรวจด้วยวิธี RT-PCR โดยบางท่าเรือพบว่า กว่าสินค้าจะสามารถผ่านพิธีการทางศุลกากรได้ ใช้เวลานับเดือน ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะสินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง ที่ต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อให้ความเย็น

ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือเเจ้งอย่างเป็นทางการจากจีน กรณีมาตรการที่จีนจะเพิ่มความเข้มงวดให้พนักงานและแรงงานในโรงงานที่จะส่งสินค้าไปจีนต้องตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR 100% แต่ มกอช.ได้รับรายงานให้ประเทศไทยเพิ่มความเข้มงวดสูงสุดในสินค้าที่ขนส่งผ่านการควบคุมความเย็นแล้ว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าประมงและอาหารกระป๋อง รวมถึงเนื้อและผักผลไม้แช่แข็ง

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat