จวกยับอีไอเอโครงการยักษ์ ‘ผันน้ำยวม’ ไร้การ ฟังเสียงประชาชน กสม.ลงพื้นที่ตรวจสอบ
ชาวบ้าน-กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านรุมจวกยับอีไอเอโครงการยักษ์ “ผันน้ำยวม”ไร้การฟังเสียงประชาชน คิดเองเออเอง เสนอเพิกถอนเพื่อทำใหม่ กสม.ลงพื้นที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ เตรียมถกใหญ่ 1 กย.
วันนี้ (20 พ.ย. 64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ประกอบด้วยนายสุชาติ เศรษฐมาลินี และนางปรีดา คงแป้นลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบเรื่องร้องเรียนและรับฟังข้อเท็จจริงโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (โครงการผันน้ำยวม) ของกรมชลประทาน โดยมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบให้ข้อมูล พร้อมด้วยตัวแทนกรมชลประทาน ตัวแทนสำนักงานโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ตัวแทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช. ) และนักวิชาการผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมรับฟัง
ทั้งนี้ในวันที่ 18 พฤศจิกายน คณะกสม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางไปที่บ้านแม่เงา อ.สบเมยจ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นโครงการผันน้ำยวม ที่จะมีการสร้างเขื่อนและปากอุโมงค์ผันน้ำโดยช่วงเช้ามีการจัดเวทีรับฟังข้อเท็จจริงที่บริเวณลานจุดชมทิวทัศน์แม่น้ำสองสี ซึ่งมีชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านเข้าร่วมให้ข้อมูล
นายสิงห์คาร เรือนหอม ชาวบ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า หมู่บ้านแม่เงาตั้งขึ้นปี 2495 หรือประมาณ 70 ปี ชาวบ้านเคยต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแม่ลามาหลวงเมื่อปี 2536 ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าไปให้คนกรุงเทพฯใช้ จนโครงการนี้เงียบไปปัจจุบันมีโครงการผันน้ำยวมที่จะสร้างเขื่อน ขุดเจาะอุโมงค์สูบน้ำไปให้คนกรุงเทพฯ ขึ้นมาอีก โครงการต่างๆ ของรัฐถูกคิดขึ้นมาโดยไม่เคยถามความเห็นชาวบ้าน กว่าชาวบ้านจะรู้เรื่องก็เมื่อจะมีการดำเนินโครงการและเข้ามาสำรวจแล้ว การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแต่ละครั้งจะนำเสนอข้อดีด้านเดียว ไม่มีการนำข้อเสียมาให้ชาวบ้านได้พิจารณาตัดสินใจ และในอีไอเอของโครงการผันน้ำยวมยังบิดเบือนความเห็นของชาวบ้าน
“ชาวบ้านยกมือไม่เอาโครงการ แต่เอาไปใส่ในรายงานว่าเห็นด้วย ชาวบ้านไม่มีความรู้ว่าจะไปร้องเรียนที่ไหน ครั้งเมื่อกรมชลประทาน กับ ม.นเรศวร ลงพื้นที่ ผมเป็นคนขับเรือพาไปดูพื้นที่ แต่ไปแค่ครึ่งทางก็สั่งให้เรือกลับ ป่าไม่เคยย่ำ นั่งเรือยังกลัวเสื้อเปื้อน แบบนี้จะได้ข้อมูลครบเพื่อไปศึกษาได้อย่างไร” นางสิงห์คาร กล่าว
นายสิงห์คาร กล่าวอีกว่า อยากให้รัฐถอดบทเรียนจากการสร้างเขื่อนภูมิพลที่สร้างมากว่า 50 ปี แต่ยังขาดแคลนน้ำ ควรแก้ที่ต้นเหตุมากกว่าการหาน้ำจากลุ่มน้ำอื่นไปเติมให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะหากสร้างเขื่อนกั้นน้ำยวม ผืนป่าที่ถูกทำลายจะฟื้นกลับมาไม่ได้ ผลกระทบต่อกุ้งหอยปูปลาของสายน้ำยวม จะเอาพันธุ์ปลาที่อื่นมาปล่อยนับล้านๆ ตัวก็ไม่ถูกต้อง
นายสะท้าน ชีววิชัยพงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงาและสาละวิน กล่าวว่า โครงการผันน้ำยวมจะต้องมีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแล้วจึงสูบน้ำไปตามอุโมงค์ ซึ่งชาวบ้านอีกหลายหมู่บ้านตลอดเส้นทางที่อุโมงค์ผ่าน จะได้รับผลกระทบอย่างไร จึงอยากให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างละเอียดส่วนผลการศึกษาอีไอเอที่ออกมายังไม่ครอบคลุมถึงผลกระทบที่ครบถ้วน อีกทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมในอีไอเอระบุว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับโครงการ แต่ข้อเท็จจริงชาวบ้านไม่เห็นด้วย รวมทั้งกรณีการบิดเบือนว่าการพบปะชาวบ้าน 1-2 คน ที่ร้านลาบเป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็น จึงอยากฝากให้ กสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ
น.ส.มึดา นาวานารถ ชาวบ้านท่าเรือ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นแต่ละครั้งนั้น ชาวบ้านไม่เคยรับรู้กำหนดล่วงหน้า และไม่ได้รับข้อมูลล่วงหน้า ซึ่งชาวบ้านเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปากเกอญอ ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษากลาง ทำให้ต้องใช้เวลามากกว่าในการทำความเข้าใจกับข้อมูลก่อนเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความเห็น ขณะที่ในเวทีไม่ได้จัดล่ามที่สื่อสารภาษาถิ่นตรงกับชาวบ้าน และไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้พูดอย่างเพียงพอ หรือเป็นฝ่ายโครงการเป็นผู้พูดข้อดีฝ่ายเดียวและเลี่ยงพูดถึงผลกระทบ นอกจากนี้ยังจัดเวทีในช่วงฤดูฝนและมีสถานการณ์โควิด ที่ชาวบ้านมีความลำบากและความเสี่ยงในการเดินทางออกจากหมู่บ้านเพื่อไปเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความเห็น
“ชาวบ้านพยายามร้องทุกข์ ทำหนังสือถึงกรมชลประทาน กับ สผ. ว่าในเวทีต่างๆ ชาวบ้านไม่เห็นด้วย แต่ความเห็นของชาวบ้านกลับไม่มีการบันทึกในอีไอเอ ยกตัวอย่างการพบปะกินข้าวในร้านลาบก็ถูกนำไปใช้ในอีไอเอ พอจะไปขอรายงานก็ต้องจ่ายเงินกว่า 2 หมื่นบาท ชาวบ้านต้องไปเรี่ยไรเงินเพื่อให้ได้อีไอเอมาอ่านตรวจสอบข้อมูล แต่ยังกลับถูกปกปิดข้อมูลด้วยการถมดำทับข้อมูลในรายงาน” น.ส.มึดา กล่าว
น.ส.มึดา กล่าวว่า ชาวบ้านมีข้อเสนอ 4 ข้อ ต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องคือ 1.รัฐจำเป็นต้องหาแนวทางจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ไม่ใช่นำทรัพยากรน้ำผันข้ามไปให้อีกลุ่มน้ำ 2.รัฐต้องจัดทำอีไอเอที่มีคุณภาพไม่ใช่อีไอเอร้านลาบ 3.รัฐต้องปฏิบัติตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ ในการเคารพสิทธิชุมชน 4.รัฐต้องดำเนินโครงการอย่างจริงใจและตรงไปตรงมากับชาวบ้าน
นายสุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม.ให้ความสำคัญกับคำร้องของชาวบ้าน จึงได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบครั้งนี้ โดยการตรวจสอบจะพบว่ามีการละเมิดสิทธิชุมชนหรือสิทธิมนุษยชนหรือไม่นั้นคงต้องรอให้ผลการตรวจสอบเสร็จสิ้นก่อน แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่ามีช่องว่างของข้อมูลระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานที่เกี่ยงข้อง โดยเฉพาะเรื่องรายงานอีไอเอที่ยังมีข้อมูลขัดแย้งกัน คงต้องเรียกหน่วนงานที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงข้อมูล ซึ่งอาจต้องใช่เวลาในการตรวจสอบ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่เพื่อให้ทันกับการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะมีการทำหนังสือนำแจ้งต่อ ครม.ให้รับทราบว่า กสม.กำลังทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และจะมีการรายงานผลการตรวจสอบต่อไป
นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้เห็นบริบทของของพื้นที่ชัดเจนขึ้น ได้รับฟังข้อเท็จจริงจากชาวบ้านโดยตรงย่อมดีกว่าการอ่านเอกสารเพียงด้านเดียว โดยในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงต่อ กสม.ในประเด็นต่างๆ โดยขอยืนยันว่าจะพิจารณาอย่างเป็นกลางและตรงไปตรงมา
นายมหิทธิ์ วงศ์สา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กล่าวว่า ได้รับฟังชาวบ้านว่ามีผลกระทบอย่างไร มีข้อกังวลด้านใดบ้าง บางประเด็นที่ชาวบ้านไม่เข้าใจก็ต้องกลับมาทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้ถูกต้อง ส่วนเรื่องอีไอเอที่ชาวบ้านมองว่ามีการบิดเบือนข้อเท็จจริงนั้นยืนยันว่ากระบวนการพิจารณาอีไอเอมีหลายขั้นตอนกลั่นกรอง คณะกรรมการพิจารณาล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิน่าเชื่อถือ จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีการบิดเบือนข้อมูล นอกจากนี้ข้อกังวลว่าจะมีการเก็บค่าน้ำจากผู้ใช้น้ำในภาคกลาง ชี้แจงว่าน้ำต้องสูบลงเขื่อนภูมิพล การปล่อยน้ำจะเข้าสู่ระบบปกติ ไม่มีการเก็บค่าน้ำแต่อย่างใด
ด้านตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) และมหาวิทยาลัยนเรศวรปฏิเสธการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว โดยชี้แจงว่า การมาในวันนี้ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มารับฟังข้อมูลจากชาวบ้านเท่านั้น จึงไม่สามารถให้สัมภาษณ์
ทั้งนี้ระหว่างการให้ข้อมูล ชาวบ้านได้ถามกับตัวแทนกรมชลทานถึงระดับน้ำที่จะเอ่อเข้าท่วมหมู่บ้าน นายมหิทธิ์ ชี้แจงว่า ระดับน้ำกักเก็บสูงสุดจะไม่ท่วมถึงตัวบ้านแน่นอน โดยน้ำจะท่วมเข้ามาถึงตามร่องน้ำเท่านั้น แต่ชาวบ้านยังไม่มั่นใจและบอกว่า ในอดีตที่ผ่านมาปีที่มีปริมาณน้ำฝนเยอะ มีหลายครั้งที่แม่น้ำเพิ่มระดับมาถึงฐานของเสาบ้าน แล้วถ้ามีเขื่อนน้ำอาจจะเพิ่มสูงจนท่วมหมู่บ้านอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ชาวบ้านยังตั้งคำถามถึงการชดเชยกรณีต้องอพยพโยกย้ายว่า รัฐจะมีเกณฑ์การจ่ายอย่างไรโดยตัวแทนกรมชลประทานชี้แจงว่า ในรายงานอีไอเอมีการสำรวจพื้นที่ได้รับผลกระทบ และการจ่ายค่าชดเชยจะเป็นไปตามเกณท์ที่กฏหมายระบุไว้ ทั้งที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ โดยชาวบ้านอธิบายว่าชาวบ้านเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ บางคนยังไม่มีบัตรประชาชน ที่ดินที่ทำกินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ค่าชดเชยคงได้ไม่คุ้มและไม่พอไปหาซื้อที่ดินผืนใหม่ แล้วจะให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ที่ไหน
จากนั้นคณะ กสม.และผู้แทนหน่วยงานได้เดินทางต่อไปในหมู่บ้านแม่เงา ซึ่งเป็นที่จุดก่อสร้างปากอุโมงค์ผันน้ำ และจุดทิ้งกองดินที่เกิดจากการขุดอุโมงค์ ซึ่งชาวบ้านกังวลถึงผลกระทบด้านต่างๆ โดยเฉพาะกองดินที่จะทับพื้นที่ชุมชนหลายสิบไร่ รวมถึงการสร้างโรงสูบน้ำขนาดใหญ่ใกล้ชุมชน
ส่วนในวันที่ 19 พฤศจิกายน คณะ กสม.และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางไปที่เทศบาลตำบลบ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากชาวบ้านในพื้นที่ อ.อมก๋อย ที่อยู่ในเส้นทางผ่านของอุโมงค์ผันน้ำ
นายพิบูลย์ ธุวมณทล เครือข่ายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอมก๋อย กล่าวว่า ชาวบ้านแทบไม่รู้ข้อมูลโครงการผันน้ำและไม่รู้ว่ารายงานอีไอเอคืออะไร แล้วจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้าง จุดพิกัดกองดินที่เกิดจากการขุดเจาะอุโมงค์จะไปกองทับที่ดินทำกินของใครบ้าง ทำไมกรมชลประทานไม่ชี้แจงให้ชัดเจน
นายไพรัตน์ กษีร ชาวบ้าน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า อยากให้มีการชี้แจงกับชาวบ้านให้ชัดเจนถึงผลกระทบโดยเฉพาะกองดินว่าจะอยู่ในจุดใดบ้าง ผลประโยชน์หรือผลกระทบด้านใดบ้างที่จะเกิดขึ้น ที่ผ่านมามีการจัดประชุมรับฟังความเห็น แต่ตนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านกลับไม่รู้เรื่องว่ามีการจัดประชุมขึ้นที่ไหน
ทั้งนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่มีข้อคิดเห็นกังวลถึงผลกระทบที่อาจต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน กระทบต่อวิถีชุมชนชาติพันธุ์ รวมถึงการชดเชยที่ไม่เหมาะสมและอาจไม่ได้รับการชดเชย เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์
ขณะที่นายสุชาติ เศรษฐมาลินี ได้ตั้งคำถามกับชาวบ้านว่า รู้สึกอย่างไรกับคำพูดที่ว่าคนดอยต้องเป็นผู้เสียสละ เพื่อให้คนภาคกลางมีน้ำกินน้ำใช้ โดย นางสาววาสนา โชคชีวา ตัวแทนเยาวชนบ้านน้ำเงาอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ว่า คำพูดนี้แทงใจคนบนดอยอย่างมาก กรมชลประทานควรบริหารจัดการน้ำให้คนกรุงเทพฯ อย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพราะคนบนดอยดูแลอนุรักษ์ป่าต้นน้ำไว้ ช่วยกันทำแนวกันไฟป่าทุกปี มีพิธีกรรมรักษาป่าเขา ดูแลลำธารต้นน้ำ
นายเฉลิมพงษ์ พัฒนาศาสกุล ชาวบ้าน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ถ้าไม่มีโครงการผันน้ำ คนภาคกลางจะอยู่กันไม่ได้หรือ ประเพณีของชาวบ้านรักษาป่ามาตั้งแต่ดั้งเดิม มีประเพณี กำหนดกติการักษาป่าต้นน้ำสืบต่อรุ่นสู่รุ่น ชาวบ้านอมก๋อยกำหนดร่วมกันห้ามทำไร่ข้าวโพดเพราะทำลายป่า
ในช่วงบ่าย คณะ กสม.และผู้แทนหน่วยงานได้เดินทางไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาคอเรือ อ.ฮอดจ.เชียงใหม่ เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงในพื้นที่ อ.ฮอด ที่อยู่บริเวณปลายทางของอุโมงค์ผันน้ำยวม โดยมีกำนัน2 ตำบลและผู้ใหญ่บ้าน 10 หมู่บ้าน และตัวแทนชาวบ้าน ร่วมให้ข้อมูล
นายวันชัย ศรีนวล ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 บ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และในฐานะตัวแทนชมรมกะเหรี่ยงโผล่ง กล่าวว่า ถ้าโครงการผันน้ำยวม มูลค่า 70,000 ล้านบาท สามารถเกิดขึ้นได้ จะเป็นตราบาปตกไปถึงลูกหลาน เหมือนกับที่เป็นตราบาปในอดีตปี 2516 ที่ชุมชนถูกเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างเขื่อนภูมิพล ซึ่งจนถึงบัดนี้ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านจึงยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่ต้องการโครงการผันน้ำยวม อีกทั้งพื้นที่เหนือเขื่อนภูมิพลแถบนี้ในฤดูฝนมีปริมาณน้ำมากและมีน้ำท่วมทุกปี จึงไม่จำเป็นต้องสูบน้ำจากน้ำยวมมาเพิ่ม
“คนภาคกลางอาจมองว่าพี่น้องแม่งูดเป็นคนเห็นแก่ตัว แต่ทุกวันนี้พวกเราต้องอยู่แบบหลักลอย เพราะที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถ้าหากเอาโครงการผันน้ำยวมก็จะเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านอีกครั้ง” นายวันชัยกล่าว
นายวันชัย ถามตัวแทนกรมชลทานอีกว่า เมื่อรายงานอีไอเอไม่ถูกต้องและไม่ได้มาจากความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน จะยับยั้งได้หรือไม่ ทางตัวแทนกรมชลประทาน ชี้แจงว่า ตอนนี้ไม่สามารถให้คำตอบได้เพราะรายงานอีไอเอกำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนทช. จะต้องเอาข้อร้องเรียนนี้กลับไปหารือกันใหม่
ทั้งนี้นายวันชัย ได้ร้องขอสำเนารายงานอีไอเอจากทางกรมชลประทาน เพื่อให้ชาวบ้านได้ตรวจสอบข้อมูลเนื่องจากมีข้อสงสัยว่ารายงานอีไอเอฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการได้อย่างไร ทั้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและยืนยันคัดค้านในเวทีแสดงความคิดเห็น โดยกล่าวว่า “ทำรายงานอีไอเอผ่าน แต่ชุมชนไม่ได้อ่าน ต้องจ่ายค่าถ่ายเอกสาร 2 หมื่นบาท โครงการมูลค่า 7 หมื่นล้าน ขอรายงานอีไอเอให้ชาวบ้านได้ตรวจสอบข้อมูลได้หรือไม่”
นายมหิทธิ์ วงศ์สา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน ชี้แจงว่า ยินดีส่งสำเนารายงานอีไอเอให้ชาวบ้าน แต่ขอเวลาในการจัดเตรียมเอกสารประมาณ 1 เดือน เนื่องจากเอกสารมีจำนวนมากและต้องมีการเซ็นรับรองสำเนา
ขณะที่ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่พยานผู้เชี่ยวชาญ กสม.ในการตรวจสอบครั้งนี้ กล่าวว่ากรมชลประทานควรเร่งรัดส่งรายงานอีไอเอให้ชาวบ้านเร็วที่สุด เพราะมีไฟล์เอกสารต้นฉบับสามารถพิมพ์ได้ทันที ซึ่งควรเห็นใจชาวบ้านที่กำลังสูญเสียบ้าน สูญเสียวิถีชีวิต ขอความกรุณาให้ชาวบ้านด้วย
“ฉบับที่ชาวบ้านเรี่ยไรเงินไปขอสำเนา สผ.ส่งฉบับที่ถมดำ ปิดชื่อชาวบ้านที่ร่วมเวทีรับฟังความเห็น ปิดดำหน้าผู้เข้าร่วมทั้งหมด แม้แต่ชื่อรองอธิบดีที่อนุญาติเผยแพร่รายงานก็ถูกถมดำ คิดว่าฉบับใหม่ที่จะมอบให้ชาวบ้านจะไม่มีถมดำ เพื่อให้ชาวบ้านได้ตรวจสอบข้อมูลว่าใครเป็นผู้ได้รับผลกระทบ กสม.ก็ต้องช่วยตามรายงานให้ชาวบ้านด้วย” ผศ.ดร.กล่าว