กสม. แจง ตร.ตั้งด่าน บันทึกภาพใบขับขี่โดยไม่ได้รับความยินยอม เข้าข่ายละเมิดสิทธิฯ
(18 พ.ย. 64) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ น.ส.อัจฉรา ฉายากุล รองเลขาธิการกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงกรณีได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น และสถานีตำรวจภูธรกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ของผู้ร้อง โดยไม่ได้รับความยินยอม ขณะขับรถยนต์ผ่านจุดตรวจ จุดสกัด ตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ และจับกุมสิ่งผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ได้ขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ และผู้ร้องได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายทอดสด (Live) และบันทึกภาพการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ขณะเจ้าหน้าที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ของผู้ร้อง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ร้องก่อน และผู้ร้องทั้งสองกรณีเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลตามพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม.ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน พิจารณาคำร้อง ข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 ได้รับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลไว้ โดยเฉพาะการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ขณะที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 17 ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงความเป็นอยู่ส่วนตัวโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้เช่นเดียวกัน การแทรกแซงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวจึงอาจกระทำได้เฉพาะกรณีที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยอำนาจตามกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น
สำหรับการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ของเจ้าหน้าที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อาจมีกรณีที่ล่วงล้ำหรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องหรือบุคคลที่ผ่านหรือที่เข้าไปอยู่บริเวณจุดตรวจ จุดสกัดได้ เช่น การค้น หรือการตรวจหาสารเสพติด ดังนั้นจึงต้องกระทำโดยระมัดระวัง เท่าที่จำเป็น และส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้น้อยที่สุด
แม้การขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ ณ จุดตรวจ จุดสกัด จะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่สามารถกระทำได้ แต่การที่เจ้าหน้าที่บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ของผู้ร้องหรือบุคคลที่ผ่านหรือที่เข้าไปอยู่บริเวณจุดตรวจ จุดสกัด ถือเป็นขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ และโดยที่ใบอนุญาตขับขี่ปรากฏข้อมูลส่วนบุคคลหลายรายการ การบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่เก็บรวบรวมไว้จึงอาจเป็นการล่วงล้ำหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลได้ นอกจากนี้ การที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่เพื่อเก็บหลักฐานยืนยันความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติหน้าที่ หรือหากปรากฏว่าผู้ร้องนำภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกไว้ไปเผยแพร่ในทางที่ทำให้เกิดความเสียหาย เจ้าหน้าที่จะสามารถดำเนินการติดตามตัวผู้ร้องมาสอบสวนได้โดยง่าย นั้น ก็มิใช่เหตุตามกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ในการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ทั้งไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำเช่นนั้นได้
กสม.มีข้อเสนอแนะ มาตรการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดให้เป็นไปตามหนังสือ ตร. ที่ 0007.34/5578 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2556 เรื่อง กำชับมาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด และหนังสือ ตร. ที่ 0007.34/681 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2564 เรื่อง มาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก และความผิดอื่นเกี่ยวกับรถ หรือการใช้ทาง โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระมัดระวังการบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่หรือเอกสารอื่นใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งอาจล่วงล้ำหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่ผ่านหรือที่เข้าไปอยู่บริเวณจุดตรวจ จุดสกัด และต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเท่าที่จำเป็นและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น