มูลนิธิอิสรชน เผย จำนวนคนเร่ร่อนในกรุงเทพมหานคร พุ่งสูงกว่า 4,500 คน
มูลนิธิอิสรชน เผย จำนวนคนเร่ร่อนในกรุงเทพมหานครพุ่งสูงกว่า 4,500 คน โควิด-19 ทำให้มีคนเร่ร่อนเข้าสู่ระบบใหม่มากขึ้น ห่วงการจัดระบบเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนให้คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน ต้องส่งเสริมให้นำไปใช้ได้จริง
The Reporters ร่วมกับมูลนิธิอิสรชน ลงพื้นที่ริมคลองหลอด กรุงเทพมหานคร มอบสิ่งของจำเป็น เช่นอาหาร และสิ่งของยังชีพ ให้กับคนเร่ร่อน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งพบว่า มีคนเร่ร่อน ที่นอนค้างคืนบนถนนบริเวณริมคลองหลอด ไม่ต่ำกว่า 20 คน จากที่พบมีกลุ่มที่เพิ่งพ้นโทษที่ยังหางานทำ และยังไม่มีที่พักอาศัย ทำให้ต้องมาเร่ร่อน จากการสอบถามพบว่าได้ฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็มจากในเรือนจำ แต่ไม่มีใบรับรอง นางอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ระบุว่า กำลังเป็นปัญหาที่ทำให้คนเร่ร่อน ไม่สามารถนำเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ไปยื่นเพื่อขอสมัครงาน หรือทำงานได้
“กลุ่มคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน ทางมูลนิธิ ได้ตรวจหาเชื้อเชิงรุก พบว่าติดเชื้อโควิดน้อย เพราะอยู่ในที่สาธารณะ ที่โล่ง แต่จะไปเน้นเรื่องการฉีดวัคซีน แต่มีปัญหาที่ คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน ยังไม่มีเอกสารรับรองผลการฉีดวัคซีน ทำให้ยังมีปัญหาเรื่องการไปสมัครงาน จึงเป็นปัญหาที่คนเหล่านี้ยังเข้าสู่ระบบไม่ได้ ทำให้จำนวนคนเร่ร่อนหน้าใหม่มีจำนวนมากขึ้น”
นางอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เปิดเผยว่า ทางมูลนิธิได้รับการจัดสรรวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มาครั้งละ 300 โด้ส จำนวน 2 ครั้ง 600 โด้ส มาฉีดให้คนเร่ร่อน แต่ยังไม่ทั่วถึงเพราะจากสถานการณ์โควิด-19 และจากการสำรวจของมูลนิธิอิสรชน ตั้งแต่เดือน มกราคม-ตุลาคม 2564 พบว่า มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทั้งหมด 4,510 คน
สำหรับผู้ใช้ชีวิตสาธารณะ แบ่งเป็น 3 ประเภท
-ครอบครัวเร่ร่อน คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน รวมในสถานสงเคราะห์ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่ว กทม. จำนวน 3,340 คน
-หนักงานบริการอิสระ จำนวน 687 คน
-ผู้ป่วยทางจิต 483 คน
สำหรับผู้ใช้ชีวิตสาธารณะ จากการสำรวจของมูลนิธิอิสรชน พบว่า มีทั้งผู้ติดสุรา ซึ่งอาจติดสุรามากจนครอบครัวรับไม่ไหว ผู้พ้นโทษ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่พ้นโทษแล้วสังคมไม่ยอมรับจึงออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ นอกจากนี้ยังมีผู้มีความหลกหลายทางเพศ พนักงานบริการ ที่ให้บริการทางเพศเพื่อเลี้ยงชีพ อาจยืนหรือนอนตามที่สาธารณะเพื่อรอลูกค้า
ส่วนผู้ใช้ชีวิตสาธารณะชั่วคราว มีทั้งคนเร่ร่อน ที่ตกงานมีปัญหาครอบครัว หรือคนที่ชอบอิสระ มักมีที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งหากิน ส่วนเด็กเร่ร่อน เป็นเด็กที่ออกมาทำงาน ขอทานหรือย้ายตามครอบครัวมา
นอกจากนี้ยังมีต่างชาติตกยาก ที่อาจโดนโกงหรือโดนขโมยจนหมดตัว จึงกลับประเทศไม่ได้ แรงงานเพื่อนบ้านที่รับจ้างไปเรื่อยจึงอาศัยนอนในพื้นที่สาธารณะ และคนจนเมือง ที่ผิดหวังจากงานในเมืองจะกลับบ้านแต่ไม่มีที่ทำกิน จึงต้องอาศัยในพื้นที่สาธารณะ
ขณะที่ผู้ป่วยข้างถนน จะเป็นคนที่พลัดหลงจากบ้านมาเนื่องจากอาการทางสมอง หรือ อัลไซเมอร์ ส่วนคนไร้บ้าน เป็นคนที่ถูกไล่ที่หรือไม่มีที่ทำกิน และคนเร่ร่อนไร้บ้าน เป็นคนที่ย้ายที่พักไปเรื่อยๆตามความพอใจ
มูลนิธิอิสรชน พบว่า คนไร้บ้านไม่ได้ขี้เกียจ คนไร้บ้าน สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ เช่น รับจ้างแจกใบปลิว รับจ้างทำความสะอาด รับจ้างเข็นรถ เข็นผักในตลาด รับจ้างขนของใช้แรงงาน เดินขายพวงมาลัย ขายของเก่า รับจ้างรักษาความปลอดภัย รับจ้างขนของใช้แรงงาน หรือรับจ้างเป็นตัวประกอบฉาก
ในจำนวนคนเร่ร่อนที่ The Reporters นำสิ่งของไปให้ มีกลุ่มที่ขายของแบกับดิน ที่กลางวันจะขายของแบกับดินริมถนน กลางคืนจะพักอยู่ริมถนน หน้าร้านค้าต่างๆ ซึ่งพบว่า มีร้านค้าหลายร้าน ยินดีให้คนเร่ร่อนนอนค้าง เพื่อจะได้ช่วยรักษาความปลอดภัย แต่มีการตกลงให้ดูแลความสะอาด ซึ่งการได้นอนในที่สาธารณะ ทำให้พวกเขาประหยัดค่าใช้จ่าย ค่าห้องพัก ที่ไม่ใช่โรงแรม หรืออพาร์ทเม็นต์ แต่อาจเป็นแค่เพิงพักสังกะสี ราคาคืนละ 30 บาท
“ลุงมีหน้ากากอนามัยเยอะแล้ว ผ้าขนหนู ก็ผืนใหญ่ไป ลุงไม่เอา มาม่าลุงก็ไม่เอา เพราะไม่มีที่จะทำกิน ของที่ให้ เอาแค่น้ำผลไม้ ปลากระป๋อง ก็พอไอ้หนูเอ๊ย”
ลุงวัย 70 ปีที่ยอมรับว่า ตนเองเป็นคนเร่ร่อน และเป็นคนตาบอด ใช้ชีวิตแบบนี้มากว่า 30 ปีแล้ว กลางวันก็จะคอยเก็บขวด ไปขาย พอจะมีเงินซื้อกาแฟ ขนมปัง หรือข้าวที่กินพออิ่ม จึงไม่ได้ต้องการสิ่งของมากมาย และมีความสุขที่จะมีชีวิตแบบนี้ ไม่ได้ต้องการไปอยู่สถานสงเคราะห์ เพราะไม่มีความสุข
นี่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคนเร่ร่อน ในกรุงเทพมหานคร ที่มีหลากหลาย และไม่ได้ต้องการสิ่งของช่วยเหลือที่เกินความจำเป็น แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการมีตัวตนในสังคม ที่ยอมรับให้สามารถทำงานได้ พอมีเงินดูแลตัวเอง และบางคนต้องการเพียงที่พักพิงที่ปลอดภัย
ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการสนับสนุน การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้ที่พึ่ง กับมูลนิธิอิสรชน เช่นโครงการปลูกปันอิ่ม สามารถบริจาคค่าวัสดุอุปกรณ์ทำสวน เมล็ดพันธุ์ กล้าพันธุ์ ค่าแรง อาหาร เครื่องดื่ม และพื้นที่สำหรับกิจกรรม
หรือโครงการ ถุงปันสุข ถุงละ 99 บาท สามารถบริจาคได้ตามคิวอาร์โค้ด มูลนิธิอิสรชน
สนับสนุนพาหนะในการเดินทางปฏิบัติภารกิจโดย นิสสัน เทอร์ร่า ใหม่ ตอบโจทย์ทุกการเดินทาง