POLITICS

คกก.นโยบายท่องเที่ยวฯ เดินหน้าฟื้นฟูท่องเที่ยว เปิดรับต่างชาติ 4 ระยะ หนุนคนทำงานท่องเที่ยวต้องได้รับวัคซีนสร้างความเชื่อมั่น

วันนี้ (7 พ.ค. 64) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว. มอบหมายนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบ แนวทางการฟื้นฟูการท่องเที่ยว เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  พร้อมกับมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการตามแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว  ประกอบด้วย มอบหมายกระทรวงมหาดไทย เตรียมความพร้อมและประสานรวบรวมจำนวนวัคซีนโควิด-19 ให้กับพื้นที่ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยว 10 พื้นที่  กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาการจัดสรรวัคซีน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมความพร้อมด้านการตลาด และ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เพื่อพิจารณาการจัดสรรวัคซีน

สำหรับแนวทางการเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวนี้ เกิดขึ้นจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้หารือร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และจังหวัดต่างๆ  โดยได้กำหนดช่วงดำเนินการเป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 นำร่อง 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 64 เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีน มีใบรับรองการฉีดวัคซีน และกักตัวตามระยะเวลาที่ ศบค. กำหนด  

ระยะที่ 2 Phuket Sandbox 1 ก.ค. – 30 ก.ย. 64 เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้ว มีใบรับรองการฉีดวัคซีน เข้ามาในพื้นที่ภูเก็ตโดยไม่มีการกักตัว

ระยะที่ 3 ผ่อนคลายในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 64 เป็นต้นไป รับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนและมีใบรับรองการฉีดวัคซีน ขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดกระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ชลบุรี บุรีรัมย์ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องกักตัว  และ

ระยะที่ 4 เข้าสู่ภาวะปกติ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 เป็นต้นไป เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้วและมีใบรับรองการฉีดวัคซีนเข้ามายังทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว

สำหรับการประเมินพื้นที่ศักยภาพ 10 แห่งเพื่อดำเนินการ นั้น เลือกพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และบางส่วนของจังหวัดกระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ บางส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากจะมีการจัดการแข่งขันวิ่งภูเขาและวิ่งเทลชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 11 – 14 พ.ย. 2564  จังหวัดชลบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติและพื้นที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ  ส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งพักผ่อนที่สำคัญของทั้งชาวไทยและต่างชาติและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ  จังหวัดเพชรบุรีเนื่องจากพื้นที่เชื่อมโยงกับกรุงเทพฯและประจวบคีรีขันธ์  และจังหวัดบุรีรัมย์เนื่องจากจะมีการจัดการแข่งขันกีฬาหลายรายการ เช่น โมโต จีพี ในเดือนต.ค. 2564 และกรุงเทพฯ เป็นจุดหลายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่จะทำให้การดำเนินการตามแผนสำเร็จได้คือ ประชาชนและบุคลาการด้านการท่องเที่ยวในทุกพื้นที่จะต้องได้รับวัคซีนไม่ต่ำกว่า 70%  ที่ประชุมจึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานเพื่อเตรียมความพร้อมการกระจายวัคซีนโควิด – 19 ให้เป็นไปตามแผน   พร้อมกันนี้ ที่ประชุมก็ได้เห็นชอบในการสนับสนุนและผลักดันให้ดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด – 19 ให้แก่บุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยให้ถือว่าเป็นบุคลากรกรด่านหน้าที่ต้องได้รับวัคซีนโดยเร็ว ในทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อรองรับนโยบายเปิดประเทศ ทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ทั้งนี้ ในปี 2562 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 39.9 ล้านคน ทั้ง 10 จังหวัดมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80%ของรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในปีดังกล่าว  ซึ่งภายใต้แผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวนี้ หากสามารถดำเนินการใน 10 จังหวัดได้ตามแผน จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 3,500,000 คน และสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 298,192 ล้านบาท  แยกเป็นเดินทางเข้ามาสร้างรายได้ของจังหวัดภูเก็ต 1,096,699 คน สร้างรายได้ 122,046 ล้านบาท เป็นการเดินทางเข้าและสร้างรายได้ให้กับ 9 จังหวัด 2,403,301 คน สร้างรายได้ 176,146 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมได้ยังเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้งและการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวประจำเขตการท่องเที่ยว พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นประกาศการกำหนดองค์ประกอบและวิธีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวแต่ละเขตซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 9 เขต และอยู่ระหว่างขั้นตอนการประกาศเพิ่มอีก 6 เขต

รายละเอียดประกาศจะครอบคลุมภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ตลอดจนกำหนดขอบเขตอำนาจ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวในแต่ละเขตมีบทบาทผลักดันการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ให้ชัดเจน ทั้งในแง่การรักษา ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว การบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ สนับสนุนให้รายได้ที่เกิดจากภาคท่องเที่ยว กระจายลงไปยังท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม  

ภาพประกอบ: Sebastian Pichler on Unsplash

Related Posts

Send this to a friend