BUSINESS

บอร์ด สมอ. ขานรับนโยบาย ‘ EV ‘ อนุมัติมาตรฐานแบตเตอร์รี่รถไฟฟ้า พร้อมทบทวนมาตรฐาน ความปลอดภัยจากการชนของรถยนต์ เพื่อเตรียมบังคับต่อไป

บอร์ด สมอ. ขานรับนโยบาย ‘ EV ‘ อนุมัติมาตรฐานแบตเตอร์รี่เพิ่มอีก 5 มาตรฐาน เร่งผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยให้มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง หลังประกาศใช้แล้วกว่า 20 มาตรฐาน และรื้อมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยจากการชนของรถยนต์ เพื่อเตรียมประกาศเป็นมาตรฐานบังคับ รวมทั้งมาตรฐานอื่นๆ อีก 44 มาตรฐาน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ดร.จุลพงษ์  ทวีศรี ประธานบอร์ด สมอ. เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดให้ สมอ. ดำเนินการจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยให้มีมาตรฐาน ซึ่ง สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าแล้วกว่า 20 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานเต้าเสียบและเต้ารับของรถไฟฟ้า มาตรฐานระบบการประจุไฟฟ้าของรถไฟฟ้า (สถานีชาร์จ) และมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า และมีแผนจัดทำมาตรฐานอีกกว่า 40 มาตรฐาน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยให้มีคุณภาพและมีความก้าวหน้า สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ เพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานน้ำมัน และลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา บอร์ด สมอ. ได้อนุมัติมาตรฐานแบตเตอร์รี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอีกจำนวน 5 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานเซลล์ทุติยภูมิชนิดลิเทียมไอออนสำหรับการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า เล่ม 1 การทดสอบสมรรถนะ , เล่ม 2 การทดสอบความเชื่อถือได้และการทดสอบเกินขอบเขตของคุณลักษณะ , เล่ม 3 ข้อกำหนดด้านความปลอดภัย , แบตเตอรี่ทุติยภูมิ (ยกเว้นลิเทียม) สำหรับการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า  การทดสอบสมรรถนะและความทนทาน และแบตเตอรี่ทุติยภูมิ (ยกเว้นลิเทียม) สำหรับการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า เล่ม 4 ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยสำหรับเซลล์ และมอดูลนิกเกิลเมทัลไฮไดรด์  คาดว่าทั้ง 5 มาตรฐานจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้

ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี ประธานบอร์ด สมอ.

นอกจากภารกิจด้านการกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว สมอ. ยังเตรียมความพร้อมในด้านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องมือทดสอบตามมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า (UN R 100) มาตรฐานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (UN R 136) และเครื่องมือทดสอบแบตเตอร์รี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะสามารถให้บริการทดสอบได้ในเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้

ประธานบอร์ดฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ ยังได้ให้ สมอ. ทบทวนมาตรฐานการทดสอบโครงสร้างรถยนต์เพื่อรับแรงกระแทกจากการชนด้านหน้าและด้านข้าง โดยยกเลิกฉบับเก่าและจัดทำขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตและการทดสอบในปัจจุบัน เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ตลอดจนลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ โดยได้อนุมัติไปพร้อมกับมาตรฐานอื่นๆ รวม 44 มาตรฐาน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และเตรียมบังคับให้รถยนต์ต้องมีความปลอดภัยจากการชนตามมาตรฐานที่ได้อนุมัติไปในวันนี้” ดร.จุลพงษ์ฯ กล่าว

ภาพประกอบ: Vlad Tchompalov  / Charlotte Stowe on Unsplash 

Related Posts

Send this to a friend