สธ. เผย ‘อังกฤษ’ พบผู้ป่วย ‘ไข้หวัดนก’ รายแรกในรอบ 3 ปี ชี้ ไทยยังมีความเสี่ยงต่ำ

สธ. เผย ‘อังกฤษ’ พบผู้ป่วย ‘ไข้หวัดนก’ รายแรกในรอบ 3 ปี ชี้ ไทยยังมีความเสี่ยงต่ำ ย้ำ มีมาตรการควบคุมโรค-ระบบเฝ้าระวังเข้ม แนะ หลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีก-หมู-โคนม ที่ป่วยหรือตาย เตือน ไม่นำซากสัตว์ที่ป่วยตายไปประกอบอาหาร
วันนี้ (29 ม.ค. 68) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่สื่อสหราชอาณาจักรรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 รายแรกในรอบ 3 ปี ว่ากรมควบคุมโรคติดตามข้อมูลเบื้องต้นพบว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) ยืนยันผู้ป่วยรายดังกล่าวเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยมาจากเขตเวสต์มิดแลนส์ ประเทศอังกฤษ ติดเชื้อจากการสัมผัสสัตว์ปีกที่ติดเชื้อในฟาร์ม ขณะนี้ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว
จากการสอบสวนทางระบาดวิทยาพบว่า ก่อนหน้ามีการระบาดในฝูงสัตว์ปีกที่ฟาร์มพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ในฝูงสัตว์ปีก และได้แจ้งต่อ UKHSA เพื่อเฝ้าระวังในคน ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด และให้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม จนนำมาสู่การค้นพบผู้ป่วยรายดังกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สายพันธุ์ที่พบเป็น H5N1 สายพันธุ์ D1.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในสัตว์ปีกที่สหราชอาณาจักร และแตกต่างจากสายพันธุ์ D1.1 ที่พบในทวีปอเมริกาเหนือจนเกิดผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงในแคนาดา 1 ราย และป่วยเสียชีวิต 1 รายในสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรกำลังติดตามความเสี่ยงของเชื้อไข้หวัดนกกลายพันธุ์ มีการออกมาตรการด้านสาธารณสุข ขยายพื้นที่ป้องกันไข้หวัดนกครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ กำหนดให้ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทุกรายปฏิบัติตามมาตรการด้านป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด และสัตว์ปีกที่ติดเชื้อทั้งหมดถูกกำจัดอย่างถูกวิธี รวมถึงมีการฆ่าเชื้อในพื้นที่ระบาด โดยจากการประเมินขณะนี้ยังคงมีความเสี่ยงต่อประชาชนทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ และยังไม่พบหลักฐานการแพร่เชื้อจากคนสู่คน
สำหรับประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่กรมควบคุมโรคยังคงร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตามหลักสุขภาพหนึ่งเดียว ติดตามเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง พร้อมระบบการแจ้งเหตุการณ์ผิดปกติระหว่างภาคปศุสัตว์ สัตว์ป่า และสาธารณสุข มีระบบการจัดการความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนก รวมถึงเพิ่มความเข้มแข็งของมาตรการป้องกันการติดเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน
ทั้งนี้ ขอแนะนำให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก สุกร หรือโคนมที่ป่วยหรือตาย หากต้องสัมผัสสัตว์ปีก สุกร หรือโคนม ควรสวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส กรณีพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมาก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อตรวจสอบ และไม่นำซากสัตว์ปีกหรือสัตว์ที่ป่วยตายไม่ทราบสาเหตุไปประกอบอาหารเด็ดขาด