PUBLIC HEALTH

ยูนิเซฟ​ ชี้​ เด็ก 13.6 ล้านคนในไทยเผชิญความเสี่ยงจากฝุ่น PM2.5

ยูนิเซฟ​ กังวลฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นในไทย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กประมาณ 13.6 ล้านคนทั่วประเทศ เรียกร้องให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ​ และภาคธุรกิจ ดำเนินการเร่งด่วนและจริงจังในการจัดการกับสาเหตุของมลพิษทางอากาศ​ เพื่อปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของเด็ก

ในประเทศไทย ระดับฝุ่น PM2.5 ที่เป็นอันตรายในช่วงนี้ ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้ไม่ต้องเสียวันเรียน ทั้งนี้ ยูนิเซฟกำลังจัดทำการศึกษาวิจัยโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนทั่วประเทศ โดยเน้นการปรับปรุงอาคารและห้องเรียนให้สามารถรับมือกับฝุ่น PM2.5 ได้ดี

เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี​ ถือเป็นกลุ่มเปราะบางต่อมลพิษทางอากาศเป็นพิเศษ โดยฝุ่น PM2.5 สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และส่งผลต่อเนื่องในระยะยาว เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดต่ำ และปัญหาการพัฒนาสมอง นอกจากนี้ เด็กยังหายใจรับอากาศมากกว่าผู้ใหญ่เมื่อเทียบปริมาณต่อน้ำหนักตัว และดูดซับมลพิษมากกว่าผู้ใหญ่ ขณะที่ปอด ร่างกาย และสมองยังคงเจริญเติบโตไม่เต็มที่

รายงานสภาวะอากาศโลก (the State of Global Air) ฉบับที่ 5​ เผยแพร่โดย Health Effects Institute และ ยูนิเซฟ ชี้ว่า ปี 2564 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีราว 700,000 คนทั่วโลก หรือคิดเป็นวันละเกือบ 2,000 คน ต้องเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่สองของการเสียชีวิตของเด็กกลุ่มอายุนี้ทั่วโลก รองจากภาวะทุพโภชนาการ​ อีกทั้งข้อมูลทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า เด็กในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศที่มีรายได้สูง

ยูนิเซฟยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและภาคเอกชนเร่งแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ เพื่อลดมลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเน้นย้ำว่าการตัดสินใจที่กล้าหาญและมองการณ์ไกลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาระยะยาวแทนการใช้มาตรการระยะสั้น

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat