’วิโรจน์‘ จี้ กกต. ออกหนังสือถึงโรงงานทั่วประเทศ อนุญาตให้ลูกจ้างออกมาเลือกตั้ง อบจ.
’วิโรจน์‘ จี้ กกต. เร่งออกหนังสือตรงถึงสถานประกอบการ – โรงงาน ทั่วประเทศ อำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. จวก กกต. ออกเอกสารราชการแค่ 1 หน้า A4 ไม่พอ แต่ต้องประชาสัมพันธ์ให้เป็นวงกว้าง เพื่อสร้างความตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ์
วันนี้ (14 ม.ค. 68) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ฝ่ายกิจการพิเศษ เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ กกต. ออกหนังสือถึงโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ให้อนุญาตลูกจ้างลาไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งนายก หรือสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568
นายวิโรจน์ เปิดเผยว่า พรรคประชาชนได้มีข้อสังเกตว่าการที่ กกต.จัดการเลือกตั้ง อบจ.ให้เป็นวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.2568 ซึ่งในวันดังกล่าวสถานประกอบการ รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง ก็มีการทำงานในวันเสาร์ ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคทำให้ประชาชนไม่ได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่หลายคนมีความประสงค์ที่จะออกมาใช้สิทธิ์
อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 6 พ.ย.2567 ทาง กกต.ได้มีหนังสือชี้แจงต่อสาธารณชนว่า จะมีหนังสือแจ้งไปยังสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สถานประกอบการ และห้างร้านต่างๆ ให้อำนวยความสะดวกกับลูกจ้างพนักงานให้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. แต่เท่าที่ตรวจสอบในขณะนี้ ก็ยังไม่มีหนังสือยังไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ จาก กกต. ตนจึงมายื่นหนังสือต่อเพื่อเตือน กกต.ให้ทำหนังสือรีบประสาน และเน้นย้ำกับผู้ประกอบการต่างๆ อำนวยความสะดวกให้กับลูกจ้าง
“ถ้ากกต.ไม่มีความกระตือรือร้น หรือกระตุ้นให้นายจ้างช่วยอำนวยความสะดวกต่อลูกจ้าง ก็มีความกังวลว่าผู้ที่ออกมาใช้สิทธิจะน้อยกว่าที่ควรจะเป็น สุดท้าย กกต.ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ก็จะถูกสังคมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของตน ซึ่งหลายๆ ครั้ง กกต. ก็มักจะให้เหตุผลว่า ในมาตรา 117 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ได้กำหนดว่าห้ามนายจ้างขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิเลือกตั้ง มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท แต่โลกแห่งความเป็นจริงจะมีจะมีลูกจ้างคนไหนจะไปแจ้งความเอาผิดนายจ้างซึ่งเป็นไปไม่ได้” นายวิโรจน์ กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทราบความคืบหน้าเรื่องที่เลขาธิการ กกต.ได้ส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอความร่วมมือให้ลูกจ้างสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 1 ก.พ. 2568 โดยตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.2568 แล้วหรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า ก็เป็นการประสานราชการต่อราชการ แต่ตนเห็นว่า กกต. ควรทำหนังสือประสานตรงไปยังผู้ประกอบการต่างๆ เลย และอาจจะอธิบายมาตรา 117 ด้วยว่า นายจ้างมีความจำเป็นต้องอำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 เช่น อาจจะไม่นับเป็นวันลาหรือมีมาตรการใดๆ จูงใจ หรือสนัสนุนให้พนักงานในสังกัดของตนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.ต้องทำงานทำหน้าที่ของตน ให้มากกว่านี้ไม่ใช่แทงหนังสือไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องแค่นั้นแล้วจบ ตนคิดว่าต้องทำทั้งระบบ และกระวีกระวาดมากกว่านี้
ส่วนการที่ส่งหนังสือไปยังหน่วยงานราชการด้วยกันเองยังไม่เพียงพอในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน และกระตุ้นให้ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งใช่หรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าหน่วยงานอาจจะรู้ แต่ถ้าไปถามห้างร้าน สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก ซึ่งเท่าที่ สส.ของพรรคประชาชนไปสอบถามก็ยังไม่ได้รับการประสานอย่างเป็นทางการ อาจจะรู้บ้างคือรู้ด้วยตัวเอง รู้จากบริษัทบอกต่อๆ กันมา แต่ไม่ได้มีหนังสือตรงจากหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีหนังสือตรงจาก กกต.เลย และสิ่งสำคัญที่สุด
อีกทั้ง สิ่งที่ กกต.ทำได้มากกว่าการทำหนังสือคือ การทำสื่อประชาสัมพันธ์ออกมา ที่ต้องมีน้ำหนักในการสื่อสารอย่างกว้างขวาง ซึ่งเรายังไม่เห็นการกระทำนั้นอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่โพสต์ๆ เดียวในเฟซบุ๊ก หรือทำหนังสือ 1 หน้า A4 ถึงกระทรวงแรงงาน หรือกรมกองที่เกี่ยวข้องแล้วคิดว่าจบ อย่างนั้นเท่ากับว่า กกต.ก็คำนึงถึงแค่ตัวเองได้ทำอะไร ออกประกาศเป็น A4 เพียง 1 แผ่นก็พอแล้ว
แต่ตนคิดว่ามันไม่พอ มันต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ เช่น ผู้ประกอบการในวงกว้าง ภาคประชาชนในวงกว้างทราบดีว่าในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 ผู้ประกอบการ ห้างร้านต่างๆ ต้องพร้อมอำนวยความสะดวก และเปิดให้ประชาชน ซึ่งเป็นพนักงานนั้นไปใช้สิทธิ์ เรายังไม่เห็นฝ่ายทรัพยากรบุคคลในการวางแผนสลับเวรการทำงานว่าเปิดให้พนักงานได้ลาไปเลือกตั้งโดยไม่นับเป็นสิทธิ์การลากิจ เรายังไม่เห็นภาพแบบนี้ในวงกว้าง
เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะไปติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงแรงงาน และอุตสาหกรรมที่ดูแลสถานประกอบการ และแรงงานโดยตรง หรือไม่ว่าดำเนินการอย่างไร นายวิโรจน์ ระบุว่า หลังจากวันนี้จะต้องมีการติดตามว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานที่มาสนธิกำลังกันได้ดำเนินการกระตุ้น หรือแจ้งให้สถานประกอบการทราบหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าหัวเรี่ยวหัวแรงหลักคือ กกต. ซึ่งคาดหวังว่า กกต.จะทำสื่อประชาสัมพันธ์ออกมาในกว้าง เพราะคนที่ตัดสินใจเลือกในวันเสาร์ ก็เป็น กกต.เอง
ดังนั้น กกต.ก็พึงที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว กกต.จะอ้างว่าไม่ทราบว่า สถานประกอบการ หรือโรงงานหลายแห่งทำงานในวันเสาร์ไม่ได้ คิดว่าเรื่องนี้ประชาชนก็น่าจะคาดการณ์ได้อยู่แล้ว แต่พอ กกต.ไปคาดการณ์เชิงลบว่า การออกมาใช้สิทธิอาจจะน้อย แต่กลับไม่กระวีกระวาดในการทำสื่อเข้าถึงประชาชน และผู้ประกอบการอย่างกว้างขวาง ยังไม่เห็น กกต.พูดถึงมาตรา 117 รวมถึงไม่เห็นการขอความร่วมมือผู้ประกอบการอย่างจริงจัง ไม่เห็นการขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์เลย ย้ำว่าถ้าเป็นไปได้กกต.ควรทำหนังสือตรงไปยังสถานประกอบการทุกแห่ง และขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้
นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึงการทำงานของ กกต.เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อบจ.ว่า อบจ.เป็นการบริหารในส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวพันโดยตรงกับการพัฒนาสาธารณูประโภค และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จริงๆ ถือเป็นการเลือกตั้งที่มีความสำคัญ และงบประมาณที่ อบจ.ได้รับและมีสิทธิในการบริหารจัดการหลายที่เป็นเม็ดเงินมหาศาล อย่างที่จังหวัดจันทบุรี 741 ล้านบาทต่อปี 4 ปีประมาณ 3 พันล้านบาท แต่ยังไม่เห็นบทบาทกกต.ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งอบจ.ครั้งนี้อย่างมากเพียงพอ ไม่มีความกระวีกระวาดที่อยากเห็นการมาใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปรากฎการณ์ เหมือนกับว่า เรารู้สึก และกังวลการทำงานของ กกต. จะเหมือนหน่วยงานที่ออกกระดาษ A4 ไปแล้วบอกว่าทำไปแล้ว แต่ไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ หรือผลสัมฤทธิ์ที่ควรจะเป็นคือ ประชาชนตื่นตัว นายจ้าง สถานประกอบการให้ความร่วมมือ มีการตื่นตัวร่วมกัน ตนอยากเห็นท้องถิ่นพัฒนาจากการเลือกตั้ง อบจ.