DEEPSOUTH

ทนายคดีตากใบ ยกคดีตากใบเป็นคดีตัวอย่างที่ศาลจังหวัดนราธิวาส อำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน

วันที่ 28 ตุลาคม 2567 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ภายหลัง ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งจำหน่ายคดีตากใบ เพราะจำเลยไม่มาศาลและหมดอายุความ 20 ปี

นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม หนึ่งในทนายความคดีตากใบ กล่าวว่า ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งเน้นย้ำว่า คดีนี้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี เพราะจำเลยไม่มาศาล จนหมดอายุความ ไม่ได้มีคำสั่งยกฟ้อง ดังนั้น จำเลย ยังไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ 100 % เนื่องจากคดีนี้ ผ่านกระบวนการไต่สวนมูลฟ้องมาแล้ว มีพยานหลักฐานบางอย่างเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกระทำความผิด แต่ไม่ได้ผ่านการพิจารณาว่าจำเลยมาศาล เพื่อพิสูจน์ความถูกผิด จะมองจำเลยเป็นผู้บริสุทธ์เสียทีเดียวไม่ได้ จะต้องมีคำพิพากษายกฟ้อง ถึงเป็นผู้บริสุทธ์

“ศาลยังเสียดายจำเลยที่ไม่มาพิสูจน์ตัวเอง ถ้ามาต่อสู้คดีตามปกติ จำเลยสามารถพูดกับคนทั่วไปว่าผ่านการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้ว ว่าไม่ได้ทำผิดในหตุการณ์นี้ ถ้าไม่มี จะให้บริสุทธ์ 100 % ไม่ได้ เพราะศาลไต่สวนแล้วว่ามีมูล”

นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลเปิดโอกาสให้ญาติได้สอบถามศาลเพื่อคลายความสงสัยในทุกประเด็น จะเห็นได้ว่าศาลจังหวัดนราธิวาส พยายามเข้าใจความรู้สึกของโจทก์ที่มาฟ้องคดี ให้ใช้กระบวนการยุติธรรม ก็ถือว่าสุดทางแล้ว ศาลยังบอกให้โจทก์และชาวบ้านมีความหวังในกระบวนการยุติธรรม และสามารถใช้ช่องทางอื่นได้แต่ไม่ใช่การไปก่อเหตุ แต่อาจมีกลไกสภาฯ ที่มาไต่สวน หรือช่องทางอ่นที่ไมใช่ศาล เพื่อเยียวยาความรู้สึกของญาติ

“ในเรื่องกระบวนการยุติธรรมอาจยากที่จะลงโทษผู้กระทำผิด แต่การไต่สวนสาธารณะ ไต่สวนข้อเท็จจริง อาจเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำ แต่เพื่อเยียวยาให้ญาติ ให้ไปใช้กลไกอื่นได้” นายอับดุลกอฮาร์ กล่าว

นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ สภาทนายความ กล่าวด้วยว่า ศาลใช้คำว่าคณะกรรมการอิสระ จะมาตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด และวันนี้จากความรู้สึกของโจทก์ที่ชื่นชม การทำหน้าที่ของศาลจังหวัดนราธิวาส ก็เพราะรู้สึกว่าศาลได้อำนวยความยุติธรรมอย่างเต็มที่แล้ว

“ส่วนกรณีที่ประชาชนถามว่าจะยื่นฟ้องศาลโลกได้หรือไม่ ศาลไม่มีความเห็น แต่เรื่องร้ายแรงอาชญากรรม คนเสียชีวิต 85 คน ร้ายแรงในประวัติศาสตร์ การใช้ศาลพิเศษ เช่น ศาลอาชญากรสงคราม ในกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็เป็นช่องทางหนึ่ง หรือการขอแก้ไขอายุความ ในสภาฯ ก็มีหน้าที่พิจารณาที่ทนายความและญาติจะไปห่ารือกัน” นายรัษฎา กล่าว

นายปรีดา นาคผิว ทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากท่าทีของศาลจังหวัดนราธิวาส ทั้ง กระบวนการที่ศาลให้กับญาติ และทนายความ และบุคคลอื่น ได้สอบถามเพิ่มเติมก่อนมีคำสั่งคดี ทำให้คดีตากใบเป็นคดีตัวอย่างที่ศาลยุติธรรรมในไทย ได้ว่ากระบวนการพิจารณาโดยเปิดเผย ใครก็ได้มีสิทธิไปรับฟังกระบวนการพิจารณา และเปิดให้คลายความสงสัย ไม่ใช่แค่โจทก์จำเลยมาสู้กันในคดี แล้วศาลตัดสินเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการภาพรวม

“สิ่งที่สะท้อนจากความแคลงใจของโจทก์ ถ้าไม่ผิดแล้วหนีทำไม ศาลบอกว่า เขาไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ 100 % ศาลได้มีคำสั่งมีมูลไปแล้ว ศาลรู้สึกไม่ต่างกับเรา ท่านเป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีหน้าที่ตัดสินคดีความ คดีนี้ศาลทำตามช่องทางนี้ แต่ยังมีช่องทางอื่น ที่รัฐสภา เมื่อ 19 ต.ค.67 ญาติได้ทำหนังสือไปถึง กมธ.ความมั่นคง และ กมธ.กฏหมาย ให้ตรวจสอบว่าทำไมสำนวนคดีอาญาที่จะเอาเจ้าหน้าที่มาลงโทษ สภ.หนองจิก และ สภ.ตากใบ จึงไม่ดำเนินการ จนมีคำสั่งเลขที่ 13 ในปี 2567 มาสั่งฟ้องใกล้หมดอายุความ จนไม่สามารถตามจับได้ ขอให้ไปติดตามว่า กมธ. 2 คณะนี้จะเรียกหน่วยงานใด ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงายอัยการสูงสุด จะตอบอย่างไร” นายปรีดา กล่าวย้ำ

นายรัษฎา ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าอยากขอบคุณความกล้าหาญของราษฎรที่กล้ามาฟ้องคดีเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้สิทธิตามกระบวนการยุติรรม อยากขอบคุณทนายความ ศูนย์ทนายความมุสลิม ทำงานร่วมกับมูลินธิผสานวัฒนธรรม และสภาทนายความ ที่ร่วมทำคดีนี้ให้กับญาติคดีตากใบอย่างถึงที่สุด

รายงาน : ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

Related Posts

Send this to a friend