‘ปางช้างแม่แตง’ เปิดเหตุผลการเลี้ยงช้างต้องใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ไม่ใช่ทรมานช้าง
‘ปางช้างแม่แตง’ เปิดเหตุผลการเลี้ยงช้างต้องใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ไม่ใช่ทรมานช้าง เผยธุรกิจปางช้างปรับตัวให้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น มองเหตุอุทกภัยเป็นบทเรียนที่ต้องร่วมกันฟื้นฟูให้ได้โดยเร็ว
The Reporters พูดคุยกับ นายบพิตร ชัยเลิศ ผู้บริหารปางช้างแม่แตง ซึ่งสามารถฟื้นฟูสภาพเสียหายจากน้ำท่วมได้แล้วกว่า 70 % เปิดรับนักท่องเที่ยวได้บางส่วน ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2567
บพิตร ชัยเลิศ ได้พาชมกิจกรรมในปางช้างแม่แตง ซึ่งมีบริการขี่ช้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของนักท่องเที่ยว อยากจะทำกิจกรรมแบบไหน นอกจากขณะนี้ยังไม่เปิดให้ล่องแพ เพราะน้ำยังเชี่ยวแรง และที่ปางช้าง ก็มีกิจกรรมแบบ Elephant Care ให้อาบน้ำช้าง สัมผัสช้างใกล้ชิด แต่ยังต้องมีควาญช้าง ใช้โซ่ และตะขอ ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย
“อย่างบริการนั่งช้าง จะมีแหย่งที่นั่ง เราจะมีกระสอบรองรับก่อนตัวแหย่ง ซึ่งจะถูกทำมาเพื่อช้างตัวนั้นเพื่อรองรับกับสรีระ จะมีมาตรฐานของปางช้าง และกรมปศุสัตว์จะมาตรวจสอบอยู่ตลอด”
บพิตร บอกว่า วิธีการเลี้ยงที่มีการใช้โซ่และตะขอ ก็เพื่อความปลอดภัยของช้าง เพราะกิจกรรมให้คนทำกับช้าง จำเป็นต้องมีความปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันเรามีกิจกรรม Elephant care อาบน้ำให้ช้าง สัมผัสช้างใกล้ชิด แต่ก็ต้องใช้โซ่ ตะขอ ที่พยายามสื่อภาพให้คนเห็นว่า การทำกิจกรรมกับช้าง ต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน อยากให้เข้าใจว่าวิธีการเลี้ยงช้างต้องมีอุปกรณ์ ช้างเขาจะรู้เอง แค่ควาญเดินไปต้องรู้เองว่าจะทำยังไงต่อ
“วัฒนธรรมของไทยเป็นมาดั้งเดิม แต่ถูกปรับให้ทันสมัย ทุกปางพยายามปรับตัวมากที่สุดแล้ว สำหรับผมคิดว่าอุปกรณ์จำเป็น เพราะช้างที่เป็นช้างเลี้ยงมาต้องดูแลเขา และก็แล้วแต่ความชอบ สไตล์ของนักท่องเที่ยว หน้างานเรามีรูปภาพให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจว่าจะเลือกกิจกรรมแบบไหน จะขี่ช้าง หรือทำอย่างอื่น”
บพิตร ยืนยันด้วยว่า การขี่ช้างมีกรอบปฏิบัติ และปางชัางต้องทำตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ จะมาบังคับใช้ว่าช้างเดินวันละกี่รอบ ต้องพักกี่นาที อย่างปางช้างแม่แตงจะทำงาน 08.00-14.00 น. และจะปลดให้ช้างพักผ่อน
“ช้างเหล่านี้เป็นช้างเลี้ยง บรรพบุรุษเกิดและอยู่กับคนมาตั้งแต่เด็ก ต้องมีการใช้วิธีการที่มีอยู่ ถ้าปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อม อยู่กับธรรมชาติ ช้างก็อยู่ได้ แต่วิธีการเลี้ยงก็ขึ้นอยู่กับสภาพช้างด้วย”
บพิตร เปิดเผยด้วยว่า การเกิดขึ้นของปางช้าง ก็เพื่อแก้ปัญหาช้างบ้าน ช้างเลี้ยง ที่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมป่าไม้ ถูกนำไปเร่ร่อนและทรมาน ให้มาอยู่ในปางช้าง ใกล้ธรรมชาติ ซึ่งแต่ละปางก็จะมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน ปางช้างแม่แตง เปิดมา 32 ปีแล้ว รุ่นหลังปางช้างแม่ตะมาน และปางช้างแม่สา ปางช้างเชียงดาว
“หลังเหตุอุทกภัย ที่ อ.แม่แตง ปางช้างหลายแห่งเสียหาย รวมถึงที่ปางช้างแม่แตง ซึ่งต้องเร่งช่วยกันฟื้นฟู เพราะเป็นแห่งเศรษฐกิจที่สำคัญของ อ.แม่แตง เป็นแหล่งรายได้ให้กับชุมชนด้วย และหวังว่าภัยพิบัติครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญในการดูแลช้างของแต่ละปางช้างด้วย” บพิตร กล่าวย้ำ