ภาพยนตร์ ‘หลานม่า’ กวาดรายได้จากจีน 150 ล้านบาท
ภาพยนตร์ ‘หลานม่า’ กวาดรายได้จากจีน 150 ล้านบาท เว็บไซต์รีวิวจากจีนให้คะแนนสูงทุบสถิติ ชาวจีน เผย เรื่องราวสะท้อนครอบครัวเอเชียตะวันออก พาคิดถึงวันวาน
วันนี้ (27 ส.ค. 67) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า หลังจากภาพยนตร์ไทยเรื่อง “หลานม่า” ซึ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วแผ่นดินใหญ่ของจีน ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ชมชาวจีน และข้อมูลล่าสุดวันที่ 25 ส.ค. 67 “หลานม่า” กวาดรายได้จากการจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ในแผ่นดินใหญ่ทะลุ 30 ล้านหยวน (ราว 150 ล้านบาท)
เฉินเย่ว์ ชาวเมืองหนานหนิง เปิดเผยความรู้สึกหลังชมภาพยนตร์ว่า เรื่องราวที่ดำเนินไปทำให้หวนนึกถึงความทรงจำที่มีกับครอบครัว การเล่าเรื่องชวนให้น้ำตาคลอ การตีแผ่ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และการนำเสนอประเด็นทางสังคมอย่างแยบคายชวนให้ผู้ชมขบคิดตาม
ด้านเว็บไซต์โต้วป้าน (Douban) แหล่งรวมรีวิวและคำวิจารณ์ภาพยนตร์สัญชาติจีน ให้คะแนนภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้สูงถึง 9.0 ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่มีคะแนนสูงที่สุดในปัจจุบัน อีกทั้งประเด็นจริยธรรมในความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัวในเรื่องหลานม่า เป็นที่พูดถึงอย่างมากบนสื่อสังคมออนไลน์ของจีน
ชาวเน็ตจีนรายหนึ่งแสดงความเห็นบนเว็บไซต์โต้วป้านว่า วัฒนธรรมของชาวเอเชียตะวันออก ครอบครัวถือเป็นหนึ่งเดียวกัน และความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวเน้นย้ำถึงคุณค่าของสถาบันครอบครัว รวมถึงค่านิยมเรื่องความกตัญญูกตเวที และการเคารพผู้อาวุโส ซึ่ง “หลานม่า” ชวนให้ผู้ชมขบคิดถึงประเด็นทางสังคมหลายด้าน เช่น การเลี้ยงดูลูกหลาน การดูแลบุพการี และสภาวะนอนราบของคนหนุ่มสาว ผ่านภาพของครอบครัวชาวเอเชียตะวันออกที่ยึดถือคุณค่าเรื่องครอบครัวและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงเป็นวงกว้างไปพร้อมกับการสร้างอารมณ์ร่วมในหมู่ผู้ชม
พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ทีมงานพยายามสอดแทรกกลิ่นอายของครอบครัวเอเชียตะวันออกเข้าไปในภาพยนตร์ นำเสนอความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนระหว่างผู้คน เพื่อทำให้แต่ละตัวละครมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ชมจึงหวนนึกถึงคนที่พวกเขารัก
นอกจากอารมณ์ของภาพยนตร์ที่ซึ้งกินใจแล้ว ภูมิหลังที่เกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเลจากแต้จิ๋วและองค์ประกอบทางวัฒนธรรมในพิธีศพของชาวจีนตอนใต้ที่ปรากฏในภาพยนตร์ ยังทำให้ผู้ชมชาวจีนรู้สึกเข้าถึงและคุ้นเคย ทั้งยังสื่อให้เห็นถึงการเคารพและการสืบสานอารยธรรมตะวันออก
เซี่ยงอวี๋ มัคคุเทศก์ชาวจีนในไทย กล่าวว่า ตัวละครอาม่าในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว พูดภาษาแต้จิ๋วได้ และชอบดูงิ้ว ในหนังยังใส่เพลงกล่อมเด็กภาษาแต้จิ๋ว รวมถึงประเพณีการปัดกวาดสุสานในช่วงเทศกาลเชงเม้งเข้าไปด้วย สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันชิดใกล้ระหว่างวัฒนธรรมจีนกับไทย แสดงถึงการรักษาขนบธรรมเนียมและค่านิยมดั้งเดิมของชาวจีนโพ้นทะเลในต่างประเทศ พร้อมกับการสร้างอัตลักษณ์ของตนเองในขณะปรับตัวเข้ากับสังคมท้องถิ่น
ที่ผ่านมาผลงานภาพยนตร์และละครของจีนและไทยมีบทบาทในการสานสัมพันธ์ของประชาชนสองประเทศ สร้างคุณูปการต่อการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เช่น ภาพยนตร์ “ฉลาดเกมส์โกง” ที่เข้าฉายในจีนเมื่อปี 2017 กวาดรายได้จากการจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ไปกว่า 1.35 พันล้านบาท นอกจากนี้ ภาพยนตร์และละครไทยยังมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ขนม ผลไม้ ฯลฯ
เหลยเสี่ยวหัว นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สังกัดสถาบันสังคมศาสตร์เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กล่าวว่า ไม่กี่ปีมานี้การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างจีน-ไทย รวมถึงการเผยแพร่ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ช่วยส่งเสริมการพูดคุยข้ามวัฒนธรรม และกระตุ้นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ที่มา: สำนักข่าวซินหัว