EVENT

สยามพารากอน ร่วมกับ บอนไซ ฮันเตอร์ จัดงานแสดงบอนไซญี่ปุ่นล้ำค่า อายุรวมกว่า 2,000 ปี

สยามพารากอน ร่วมกับ Bonsai Hunter สุดยอดผู้เชี่ยวชาญด้านบอนไซ จัดนิทรรศการแสดงบอนไซญี่ปุ่น “Siam Paragon the Living Art of Elegance: Japan Bonsai Exhibition by Bonsai Hunter” ครั้งแรกของการจัดแสดงบอนไซญี่ปุ่นหาชมยาก ที่มีอายุรวมกันกว่า 2,000 ปี อีกทั้งภายในงานยังมีเวิร์คชอปบอนไซโดย Bonsai Hunter ให้เรียนรู้ถึงศาสตร์และศิลป์ในการรังสรรค์และดูแลบอนไซ พร้อมจำหน่ายต้นบอนไซ รวมถึงอุปกรณ์การดูแลและตกแต่งบอนไซ โดยนิทรรศการจัดให้ชมฟรี วันที่ 15-25 สิงหาคม 2567 ณ Living Hall ชั้น 3 สยามพารากอน

สยามพารากอน ชวนร่วมสัมผัสสุนทรียแห่งบอนไซ ศิลปะร่วมสร้างระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ที่สืบทอดกันมายาวนานนับพันปี ดื่มด่ำกับบอนไซญี่ปุ่นหลากหลายสายพันธุ์กว่า100 ต้น ในรูปทรงอันงดงามลึกซึ้งบนพื้นฐานของปรัชญาความไม่สมบูรณ์แบบ ซึ่งทั้งหมดคือผลงานการสร้างสรรค์ของ Bonsai Hunter โดย กรกช ไทยศิริ Gallery Master ผู้เชี่ยวชาญด้านบอนไซที่มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี เปี่ยมประสบการณ์จากประกวดบอนไซระดับนานาชาติทั้งในเมืองไทยและที่ญี่ปุ่น โดยไฮไลท์บอนไซญี่ปุ่นที่นำมาจัดแสดง ได้แก่

1.สายพันธุ์ “Itoigawa Shimpaku” งดงามด้วยรูปทรง cascading หรือทรงตกกระถาง ซึ่งเป็นทรงหายาก ต้องอาศัยฝีมือและความเชี่ยวชาญขั้นสูงในการสร้างล้อรูปทรงของต้นไม้ที่เติบโตตามธรรมชาติบนหน้าผา มีเพียงไม่กี่ต้นเท่านั้นในประเทศไทย จัดว่ามีรูปทรงที่สวยเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ

2. สายพันธุ์ “Itoigawa Shimpaku” มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี โดดเด่นด้วยรูปทรง semi-cascading หรือกึ่งตกกระถาง ล้อไปกับกระถางทรงพระจันทร์เสี้ยวจากญี่ปุ่น จุดเด่นคือ ผ่านการสร้างให้มีขนาดกะทัดรัด ถือเป็นบอนไซระดับ top quality ที่ทั้งงดงาม มีอัตราส่วนรูปทรงสวยงามสมดุล มีอายุเก่าแก่ และสุขภาพสมบูรณ์

3. สายพันธุ์ “Kishu Shimpaku – Yamadoti” บอนไซทรงบัณฑิต ถือเป็นรูปทรงมงคล มีอายุยาวนาน 100-120 ปี Yama ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงภูเขา ส่วน Dori หมายถึง การเก็บ เมื่อรวมกันจึงหมายถึงการเก็บต้นไม้ที่เติบโตตามธรรมชาติบนภูเขา โดยปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นได้มีการสั่งห้ามเก็บต้นไม้ลักษณะนี้จากแหล่งกำเนิดธรรมชาติแล้ว จึงจัดว่าหาได้ยากมาก รูปทรงบัณฑิต มีการวิ่งขึ้นของซากในแนวดิ่ง สื่อถึงการเติบโตของผู้เป็นบัณฑิตที่ต้องผ่านการต่อสู้เพื่อให้พ้นจากร่มเงาของผู้อื่น และสร้างโอกาสที่ดีได้ด้วยตนเอง

4. สายพันธุ์ “Japanese Black Pine” (Kuromatsu) มีอายุกว่า 100 ปี สนดำญี่ปุ่นเป็นต้นไม้ที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์และดูราวกับมีมนต์ขลัง สื่อเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่น มักจะพบเห็นต้นสนดำสูงสง่าได้ทั้งจากภาพวาด และในสถานที่สำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม สวนญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในพระราชวัง ซึ่งตามธรรมชาติจะสูงได้กว่า 10 เมตร การจะเลี้ยงให้กระชับทรงในกระถาง และเลี้ยงให้ได้รูปทรงตามธรรมชาติจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

5. บอนไซสไตล์ “Kishu Yamadori” ที่ได้คว้ารางวัล Taikanten Prized จากการประกวดบอนไซระดับนานาชาติจากเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เติบโตบนซากธรรมชาติเก่าแก่เป็นลักษณะไม้เกลียวคลื่น ลำต้นกิ่งตั้งตรง มีความสมดุลในการสร้างสรรค์ทั้งการเจริญเติบโตออกด้านข้างทั้งซ้ายและขวาอย่างสมดุล

กรกช ไทยศิริ Gallery Master แห่ง Bonsai Hunter กล่าวว่า Siam Paragon the Living Art of Elegance: Japan Bonsai Exhibition by Bonsai Hunter ถือเป็นนิทรรศการบอนไซครั้งแรก ที่จะเปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาสัมผัสและชื่นชมมิติความงามแห่งศิลปะแห่งบอนไซอย่างใกล้ชิด

บอนไซแท้จริงไม่ใช่ชื่อต้นไม้ แต่หมายถึงการปลูกต้นไม้ในกระถางขนาดเล็ก โดย Bon หมายถึง กระถาง และ Sai หมายถึง การเพาะปลูก บอนไซเป็นการศิลปะร่วมสร้างสรรค์ระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ เป็นจำลองธรรมชาติในรูปแบบย่อส่วน โดยเลียนแบบรูปทรงของต้นไม้ใหญ่ตามธรรมชาติ บอนไซสื่อถึงแนวคิดปรัชญาญี่ปุ่นแบบ Wabi-Sabi นั่นคือ ความไม่สมบูรณ์คือความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง

“สำหรับศิลปะบอนไซแล้ว ไม่มีใครเป็นผู้สร้างอย่างแท้จริง ไม่มีใครเป็นเจ้าของที่แน่นอน บอนไซหนึ่งต้นคือมรดกที่สามารถส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ผู้เลี้ยงแต่ละคนจะฝากซิกเนเจอร์เฉพาะตัวที่แอบแฝงอยู่ลึก ๆ ในแต่ละต้น แสดงถึงการที่ธรรมชาตินั้นอยู่เหนือสิ่งอื่นใด” กรกช ไทยศิริ กล่าว

สำหรับเวิร์คชอปบอนไซ จะจัดขึ้นภายในบริเวณนิทรรศการ ในวันที่ 17, 18, 24 และ 25 สิงหาคมนี้ เวลา 13.00–15.00 น. ในราคาคนละ 3,000 บาท โดยจะได้เรียนรู้เชิงลึกถึงศิลปะบอนไซขั้นพื้นฐานทั้งทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติจริง ตั้งแต่ประวัติความเป็นมาของบอนไซ ความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดู การฝึกทักษะการจัดทรง การตรวจสุขภาพ และการดูแลเพื่อการป้องกันและรักษาโรคได้อย่างถูกต้องและถูกวิธี การเลือกต้นบอนไซ การวางแผนวิเคราะห์รูปทรงเพื่อสร้างรูปทรงให้สวยงามตามธรรมชาติและพลังงานธาตุที่สำคัญ เรื่องดิน น้ำ ลม ไฟ ปุ๋ย รวมถึงฝึกการคัดกิ่งและการเข้าลวด

Related Posts

Send this to a friend