‘เพิ่มพูน’ – กสศ. แก้ปัญหาเด็กหลุดนอกระบบการศึกษาที่บุรีรัมย์

มอบ สกร.ตามเด็กถึงบ้าน ตั้งเป้าเทอม 2/2567 บุรีรัมย์เด็กดร็อปเอาต์เป็น 0
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ เพื่อเช็กตัวเลขเด็กหลุดนอกระบบการศึกษาของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศวาระแห่งชาติเรื่องการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout)
ดร.ไกรยส เปิดเผยว่า ตัวเลขเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในจังหวัดบุรีรัมย์มีทั้งสิ้น 17,586 คน เฉพาะ อ.กระสัง มี 1,353 คน ต.กระสัง 229 คน ซึ่งในภาคเรียนที่ 1/2567 ต.กระสัง มีกลับเข้าระบบแล้ว 39 คน อีก 190 คน ที่เหลือต้องบูรณาการหลายหน่วยงานลงไปสำรวจเพื่อพาเด็กเข้าเรียน หรือพัฒนาทักษะตามความสนใจแบบยืดหยุ่น
“กสศ.พบว่าความยากจน ปัญหาสุขภาพ ความบกพร่องทางการเรียนรู้ และครอบครัวแหว่งกลาง คือสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเยาวชนที่นี่อยู่นอกระบบการศึกษา ซึ่งกลุ่มหนึ่งได้เข้าสู่การเรียนรู้ กับ สกร.อำเภอกระสัง อีกกลุ่มอยู่ระหว่างวางแผนช่วยเหลือดูแลเป็นรายกรณี จากนี้ต้องติดตามต่อเนื่อง พาเข้าโปรแกรม OBEC CARE หรือระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในทุกมิติสำหรับเด็กในระบบ” ดร.ไกรยส กล่าว
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นฝ่ายบริการจัดการการสำรวจเด็กเยาวชนที่ไม่พบรายชื่อในระบบการศึกษา และให้ สกร.เป็นแกนหลักสแกนหาเด็กจากข้อมูลของ กสศ. ทุกคน ทำงานกับ อพม.ตามเด็กถึงบ้าน โดยให้ทำงานแบบคิดนอกกรอบ เมื่อพบเด็กให้ถามความประสงค์ หากอยากเรียนต่อให้ประสานกับโรงเรียนหรือเขตพื้นที่รับช่วงต่อในการรับเด็กเข้าเรียน ดูแลไม่ให้หลุดซ้ำ จัดการศึกษายืดหยุ่นในลักษณะ 1 โรงเรียน 3 ระบบ เหมาะกับเด็กรายคน ตั้งเป้าเด็กดร็อปเอาต์เป็นศูนย์ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567
“วันนี้ที่บุรีรัมย์เดินหน้าไปแล้ว เราได้เห็นว่า สกร. คือหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ดังนั้นความท้าทายต่อไปคือจะทำอย่างไรให้หน่วยงานอื่น ๆ สามารถเป็นฝ่ายเติมเต็มสนับสนุนและบูรณาการรับช่วงต่อได้ และทำให้เกิดเป็นโมเดลที่จะขยายไปยังทุกพื้นที่ ดังนั้นการพูดคุยกันระหว่างหน่วยงานจะทำให้เกิดการหาแนวทางแก้ปัญหา และช่วยลดขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะพาเด็กกลับสู่การเรียนรู้ ปัญหาที่หน่วยงานหนึ่งแก้ไม่ได้เมื่อส่งต่อไปถึงมือผู้มีความชำนาญก็จะมองเห็นวิธีการแก้ไข” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
สำหรับการลงพื้นที่ตรวจสอบเด็กที่ปรากฏชื่อในฐานข้อมูลเด็กนอกระบบ พบว่ากลุ่มแรกเป็นเด็กที่มีชื่อกลับเข้าระบบการศึกษาในภาคเรียนนี้ที่โรงเรียนวัดบ้านหนองแขม อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ เป็นกรณีเข้าเรียนช้า ส่วนเด็กที่ยังไม่พบชื่อกลับเข้าเรียน คณะได้ประสานงานเพื่อให้เด็กได้กลับเข้าเรียนตามความตั้งใจ