PUBLIC HEALTH

กรมการแพทย์​ เตือน​ ภาวะเลือดออกในสมอง​ อันตรายถึงชีวิต​ อาการมักเกิดโดยฉับพลัน​

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาวะเลือดออกในสมอง สามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ มีสาเหตุแตกต่างกันตามช่วงวัย โดยผู้ป่วยอายุน้อยมักเกิดจากหลอดเลือดโป่งพอง หรือหลอดเลือดผิดปกติ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ จนหลอดเลือดแตกจึงมีอาการทางระบบประสาท นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้เป็นระยะเวลานาน ทำให้ผนังหลอดเลือดเซาะ ฉีกขาด ทำให้หลอดเลือดสมองแตกในที่สุด เป็นสาเหตุให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต 

ผศ.น.พ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการเลือดออกในสมอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงทันทีทันใดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ร่วมกับมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ความรู้สึกตัวผิดปกติ พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง​ อาการทางระบบประสาทขึ้นกับตำแหน่งที่เลือดออก และหากมีเลือดออกที่สมองน้อย ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเซ ทรงตัวลำบาก พูดไม่ชัด ซึ่งดูแล้วอาจจะคล้ายคนเมา เนื่องจากสมองส่วนนี้ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวควรส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันที

แพทย์หญิงทัศนีย์ ตันติฤทธศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า การวินิจฉัยและรักษา แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และเอกซเรย์สมอง เพื่อยืนยันว่ามีเลือดออกในสมองและตำแหน่งของความผิดปกติ ทั้งนี้​ อัตราเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมองค่อนข้างสูง จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 พบว่า มีอัตราตายจากโรคหลอดเลือดในสมองแตก ร้อยละ 21.13 และในปี 2567 พบว่า ขณะี้ตัวเลขสูงถึง ร้อยละ 20.77

การรักษาจะขึ้นกับตำแหน่งและปริมาณของเลือดที่ออก หากมีเลือดออกเล็กน้อย อาจรักษาแบบประคับประคองและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่หากเลือดออกในปริมาณมาก อาจจำเป็นต้องผ่าตัดระบายเลือดออก และลดความดันในกะโหลกศีรษะ นอกจากนี้​ หากสาเหตุของเลือดออกเกิดจากหลอดเลือดผิดปกติ หรือหลอดเลือดโป่งพอง แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการสวนหลอดเลือดเพื่อปิดทางเดินหลอดเลือดที่ผิดปกติ หรืออาจจะต้องรักษาด้วยหลากหลายวิธีร่วมกัน

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat