แนะวิธีอยู่กับความร้อน พร้อมข้อห้ามทำในหน้าร้อนนี้

ท่ามกลางอากาศแตะ 40 องศา ของฤดูร้อนเดือนเมษายนของไทย ในช่วงที่ค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้นตีคู่กับดัชนีความร้อน การจะเปิดแอร์ทั้งวันทั้งคืน อาจทำให้เราคลายร้อนตอนนี้ แต่ต้องไปร้อน (ใจ) สิ้นเดือนเมื่อรับบิลค่าไฟก็ได้ The Reporters รวบรวมทริคดีๆ ในการคลายร้อนมาฝาก พร้อมข้อผิดพลาดที่ทำให้คุณ “ไม่หายร้อน” เสียที
สำรวจตัวเอง เราทำสิ่งเหล่านี้หรือไม่
1.รับประทานอาหารมื้อใหญ่
ถ้าคุณคิดว่าเราเสียพลังงานไปมากในหน้าร้อน และต้องเติมเข้าไปให้มากๆ แล้วล่ะก็คุณคิดผิด เพราะการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ หรืออาหารที่มีโปรตีนสูง ทำให้ร่างกายต้องเผาผลาญมาก และเพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกายได้
สำหรับอาหารที่แนะนำในหน้าร้อนที่อาจช่วยให้ร่างกายเย็นลงได้ คืออาหารที่มีน้ำมาก เช่น แตงกวา แตงโม ขึ้นช่าย หรือผักกาดหอม และควรรับประทานแต่พอดี ไม่มากจนเกินไป
2.ดื่มน้ำเพียงพอหรือยัง
อากาศที่ร้อนทำให้คุณอาจต้องดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพื่อให้ร่างกายมีน้ำเพียงพอเสมอ และอาจดื่มน้ำที่มีเกลือแร่หากสูญเสียเหงื่อมาก เพื่อเติมกลับเข้าไปให้ร่างกาย
ส่วนที่เชื่อกันว่าการดื่มน้ำอุ่น จะทำให้รู้สึกเย็นขึ้นนั้น ไม่เป็นความจริงเลย ดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำเย็นก็ให้ผลเหมือนกันในอากาศร้อนๆ ขอแค่คุณดื่มน้ำให้เพียงพอก็โอเคแล้ว
3.ทำกิจกรรมกลางแจ้งนานเกินไปหรือเปล่า
การทำกิจกรรมกลางแจ้ง อย่างการวิ่ง หรือการออกกำลังกายในสวน แม้จะเป็นตอนเช้า หรือค่ำ แต่ด้วยอุณหภูมิที่สูงอย่างปัจจุบัน คุณยังต้องระวังอย่างมาก และหากมีความรู้สึกผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นอาการเวียนศีรษะ อึดอัด หรืออาการใดๆ ควรชะลอ พัก และเข้าร่ม พร้อมดื่มน้ำ หรือน้ำเกลือแร่ทันที ลดโอกาสเกิดฮีทสโตรก
สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องทำงานกลางแจ้ง แนะนำให้พักเข้าร่มบ่อยๆ สวมหมวกและเสื้อที่ป้องกันรังสียูวีได้ และไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดรูปจนเกินไปเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
สำหรับข้อแนะนำในการ “อยู่กับความร้อน” หากไม่มีแอร์ หรือไม่ต้องการเปิดแอร์ ได้แก่
1.ลดแหล่งกำเนิดความร้อนภายในบ้าน โดยการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ความร้อนสูง เช่น เตาอบ
2.เปิดพัดลมแบบส่าย และเปิดหน้าต่าง หรือประตูเพื่อระบายอากาศบ้าง การเปิดพัดลมแบบจ่อใส่ตัว ไม่ได้ทำให้คุณร้อนน้อยลง บางครั้งอาจร้อนกว่าเดิมเพราะพัดลมนำอากาศร้อนพุ่งใส่ตัวคุณ ลองเปิดพัดลมแบบส่ายจะได้ผลในการคลายความร้อนมากกว่า
3.เลี่ยง (หรือลด) เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มทั้ง 2 ประเภทนี้ทำให้ร่างกายขาดน้ำ
ข้อสำคัญ คือ ต้องหมั่นสังเกตอาการของตนเอง และคนรอบข้าง หากเข้าข่ายอาการฮีทสโตรก คือมีอุณหภูมิร่างกายเกิน 40.5 องศา หน้ามืด เวียนศีรษะ ตอบสนองช้า พูดสับสน เหงื่อไม่ออก กล้ามเนื้อกระตุก ฯลฯ ให้รีบเข้าที่ล่ม หรือที่ที่มีอุณหภูมิต่ำลง นอนราบ ยกเท้าให้สูงกว่าร่างกาย ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ เพื่อลดอุณหภูมิ และหากทำได้ให้ดื่มน้ำ แล้วรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
ที่สำคัญ อย่าลืมว่า สัตว์เลี้ยงของคุณก็ร้อนเช่นกัน ดูแลเขาเหมือนที่ดูแลตัวเอง มีน้ำให้เพียงพอสำหรับเขา และหากพื้นบ้าน หรือพื้นห้องมีความร้อนสูง อาจใช้ผ้าปูเพื่อลดการสัมผัสความร้อนโดยตรง
อ้างอิง Red Cross WHO MedicineNet NHS