BANGKOK

กทม. ร่วมกับ สสส. ขยายผล ‘BKK Zero Waste’ ตั้งเป้าปี 69 ลดขยะ 1,000 ตันต่อวัน

วันนี้ (5 เม.ย. 67) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย จัดงานสรุปผลการดำเนินโครงการ BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม ภายใต้โครงการพัฒนาเขตนำร่องการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทางอย่างยั่งยืนในกรุงเทพมหานคร โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้มอบเกียรติบัตรให้แก่หน่วยงานที่ร่วมส่งเสริมการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยที่ต้นทาง ส่งเสริมให้นำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ 84 แห่ง ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม. 2 ดินแดง

นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องการแยกขยะเป็นนโยบายที่ยากมาก เพราะประชาชนชอบบอกว่าถึงแยกไป เจ้าหน้าที่ กทม.ก็เก็บรวมอยู่ดี การทำงานครั้งนี้ทำให้เห็นถึงความพยายามที่เป็นรูปธรรม หัวใจอยู่ที่รายละเอียดการใส่ใจว่าผู้ผลิตขยะมีพฤติกรรมอย่างไร และกทม.ก็ต้องปรับตัวตาม ต้องให้ความสะดวก โดยแยกประเภทพฤติกรรมของผู้ผลิตขยะให้ชัดเจน กำหนดเป้าหมาย ดำเนินการระยะยาว และหาวิธีในการขยายให้ครอบคลุมทุกเขต เชื่อว่าต่อไปขยะจะกลายเป็นทองคำและสิ่งที่มีค่าได้

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืน กล่าวว่า กทม.ให้ความสำคัญกับการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง คัดแยก และนำไปใช้ประโยชน์ ควบคู่กับการรณรงค์ส่งเสริมในการจัดการขยะ ณ แหล่งกำเนิด โดยในปี 2566 กทม. ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย พัฒนาโครงการ “BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม” นำร่องใน 3 เขต ได้แก่ หนองแขม พญาไท ปทุมวัน เน้นส่งเสริมให้สถานประกอบการและประชาชนคัดแยกขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง มีแหล่งกำเนิดที่เข้าร่วมโครงการ 2,805 แห่ง แยกขยะเศษอาหารได้ทั้งหมด 22,140 ตัน หรือ 180 ตัน/วัน

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 67 กทม. ตั้งเป้าลดขยะให้ได้ 200 ตัน/วัน และในปี 68 เพิ่มเป็น 500 ตัน/วัน ปี 69 จำนวน 1,000 ตัน/วัน โดยปีนี้มีหน่วยงานที่เข้าร่วม แบ่งเป็น ตลาด 184 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 76 ตัน/วัน สถานศึกษา 457 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 19.4 ตัน/วัน ห้างสรรพสินค้า 114 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 23.3 ตัน/วัน และโรงแรม 136 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 17.7 ตัน/วัน สำหรับเฟสต่อไปต้องดึงประชาชนมาเข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น โดยใช้มาตรการด้านเศรษฐศาสตร์ หรือภาษี ค่าธรรมเนียม

รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการดำเนินงาน BKK Zero Waste พบว่าปริมาณขยะจากแหล่งกำเนิดลดลง 123.70 ตัน/วัน ปริมาณขยะฝังกลบลดลง 958.91 ตัน/วัน เทียบเท่ากับช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 1,666.10 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

รศ.ดร.พันธวัศ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางผ่านเว็บไซต์ bkkzerowaste.org แสดงผลการจัดการขยะที่ต้นทางเป็นรายเขต เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ ติดตาม ประยุกต์ใช้ และวางแผนเชิงนโยบายต่อไป อีกทั้งยังได้เตรียมจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงทหารดำที่สามารถกำจัดขยะอินทรีย์กว่า 200 ตัน/ปี ช่วยลดผลกระทบปัญหาสุขภาพของประชาชน และช่วยรัฐบาลลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะในระยะยาว

นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ผลิตขยะมูลฝอยมากที่สุดในไทย สสส. สานพลัง กทม. ภาคีเครือข่าย พัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการพร้อมสนับสนุนชุดเครื่องมือด้านการจัดการขยะ ส่งเสริมให้พื้นที่นำร่อง 3 เขต เกิดการมีส่วนร่วมและมีจิตสำนึกพลเมืองลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะที่ต้นทาง ทำให้เกิดวัสดุรีไซเคิลและขยะอินทรีย์ที่นำมาใช้ประโยชน์ซ้ำ 884.51 ตัน หรือคิดเป็น 14.86% ของปริมาณขยะทั้งหมด

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat