POLITICS

กมธ.มั่นคง หารือ ผบ.ทร. เห็นตรงกัน เปิดให้บุคคลภายนอกร่วมตรวจสอบ

ปมเรือหลวงสุโขทัยล่ม ยัน ‘ก้าวไกล’ หนุนกองทัพเรือ ของบปี 68 ซื้อเรือฟริเกตอีกครั้ง เตรียมพร้อมหามาตรการรับมือผู้หนีภัยสงครามเมียนมา หลังสถานการณ์ยังคงความรุนแรง

วันนี้ (15 มี.ค. 67) นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนภายหลังการหารือกับ พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และแม่ทัพในกองของกองทัพเรือ ณ กองบัญชาการกองทัพเรือ

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า วันนี้มีข้อแลกเปลี่ยนที่นำมาหารือร่วมกันหลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องของเรือหลวงชลบุรีที่เกิดเหตุปืนลั่นใส่เรือหลวงคีรีรัฐ จนทำให้เกิดเพลิงไหม้ ในเบื้องต้นหลังจากที่ได้มีการพูดคุยกับกองทัพเรือ ได้กล่าวว่าขอระยะเวลาในการตรวจสอบ 3 วัน โดยทรายมาว่าช่วงระยะเวลาในการไปฝึกกลางทะเลก็มีปัญหาเรื่องอาวุธอยู่แล้ว เนื่องจากอายุการใช้งานของอาวุธที่นำไปปฏิบัติการมีอายุการใช้งานกว่า 40 ปี ทำให้อาจมีปัญหาในเรื่องของการใช้อาวุธ เมื่อนำเรือกลับเข้าฝั่งก็เกิดเออเรอร์ ซึ่งยังไม่รู้ว่าเกิดจากซอฟต์แวร์หรือจากจุดใด ทำให้ยังไม่รู้เหตุผลที่แน่ชัด จึงต้องใช้ะยะเวลาในการตรวจสอบ เพื่อให้ ได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วน

ส่วนกรณีเรือหลวงสุโขทัย นายรังสิมันต์ กล่าวว่า จะมีการสรุปข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่งว่าสาเหตุของการที่เรือจมลงเป็นอย่างไร ทาง พล.ร.อ.อะดุง รับปากกับคณะกรรมาธิการฯ ว่าจะมีการชี้แจงต่อหน้าสาธารณะชนแน่นอน เพื่อสร้างความโปร่งใสต่อสังคมให้ได้รับทราบข้อมูล และจะมีการประมวลผลจากภาพวิดีโอและเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีการเก็บกู้ขึ้นมา ซึ่งเป็นปฎิบัติการร่วมกันกับสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ หลังจากที่ได้มีการหารือร่วมกัน กองทัพเรือจะมีการเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมตรวจสอบในเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณากระบวนการที่จะนำไปสู่การสรุปสาเหตุของเรือหลวงสุโขทัยที่มีการจม ซึ่งจะต้องมีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์รองรับร่วมด้วย จึงต้องมีการเปิด Third Party หรือบุคคลที่ 3 เข้ามาตรวจสอบ ถือเป็นแนวทางที่ดีซึ่งจะเป็นมาตรฐานของกองทัพ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับกองทัพก็จะดียิ่งขึ้น

ส่วนกรณีของเกาะกูด จ.ตราด ก็ได้มีการพูดคุยหารือร่วมกัน ยืนยันว่าเป็นของไทยแน่นอน

ส่วนเรื่องการของบประมาณจัดหาเรือฟริเกต ที่ไม่ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2567 นายรังสิมันต์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการพูดคุยหารือกันทางฝั่งของคณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้มีการคัดค้าน ขออธิบายว่าน่านน้ำไทยเรามีสองฝั่ง และต้องมียุทโธปกรณ์ในการปกป้อง ซึ่งเท่าที่ทราบในปัจจุบันเรือฟริเกตมีอยู่เพียงแค่ 4 ลำ ซึ่งหมายถึงเป็น 1 กองเรือ การปฏบัติการจากทั้งสองฝั่งทะเลจึงมีข้อจำกัดอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาตามนโยบาย Offest Policy ที่จะทำให้เกิดการจ้างงานและการผลิตภายในประเทศ มีองค์ความรู้ในประเทศ เราจึงได้มี ความรู้เชิงปฏิบัติการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในชั้นงบประมาณฯ เราจึงได้สนับสนุนเรื่องของเรือฟริเกต แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่กองทัพไม่ได้รับงบประมาณฯ ตามจำนวนที่ประสงค์ แต่ยืนยันว่าในงบประมาณ ปี 68 จะต้องมีการยื่นขออีกครั้ง ซึ่งจะต้องนำข้อมูลที่ได้รับมาไปทำความเข้าใจกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ว่ามีความจำเป็นอย่างไร เพื่อเผยแพร่ให้ สส. ได้รับทราบ เพราะในคณะกรรมาธิการฯ มี สส. มาจากทุกพรรคการเมือง

ส่วนกรณีทหารเกณฑ์ที่มีประเด็นขึ้นมาในขณะนี้ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ได้ยืนยันกับกองทัพเรือว่า ไม่อยากให้มีกรณีทหารรับใช้เกิดขึ้น ซึ่งกองทัพก็ได้มีการยืนยันมาว่า กรณีดังกล่าว ไม่ใช่ทหารรับใช้แต่อย่างไรก็ตามต้องบอกว่าเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวด้วยพัฒนาการของสังคมในเวลานี้ ทาง พล.ร.อ.อะดุง ยืนยันว่าจะมีการกวดขันเรื่องนี้ให้ดีและเข้มงวดขึ้นอีก และไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำรอย ซึ่งเราก็คิดว่าคงจะเบาบางหรือทุเลาลงไป

ส่วนประเด็นเรื่องสนามยิงปืนในพื้นที่บางนา หลังมีการร้องเรียนว่ามีเสียงดังเกิดขึ้น กองทัพเรือรับปากว่าจะมีการปรับปรุงให้เป็นสนามยิงปืนแบบปิด ดังนั้นชาวบางนาที่อาศัยอยู่บริเวณสนามยิงปืน ในอนาคตจึงมั่นใจได้ว่าเรื่องเสียงดังที่เกิดขึ้นจะเบาบางลง

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นหน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการเดินทางไปยังบริเวณชายแดนค่อนข้างมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือทางฝั่งแม่น้ำโขง พบว่ามีการใช้โดรนในการขนส่งยาเสพติด ทำให้ต้องมีการดำเนินการแก้ปัญหาโดยไว ซึ่งกองทัพเรือกยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดการปัญหาเรื่องโดรนที่เกิดขึ้น ที่มีการขนย้ายยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นมายังประเทศไทย มองว่าแนวทางนี้จะเป็นแนวทางที่ดีและเหมาะสมในการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อไป

“หลังจากนี้คงต้องมีการหารือร่วมกันไปเรื่อยๆ ยอมรับว่าบริบทโลกในวันนี้มีความแตกต่างจากเดิมค่อนข้างเยอะ มีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยไม่ใช่แค่ความขัดแย้งประเทศต่อประเทศเท่านั้นแต่อาจจะมีภัยคุกคามอื่น เช่น การลักลอบนำเข้าสิ่งผิดกฎหมายตามชายแดน ยาเสพติด การค้ามนุษย์ เราจึงต้องมีการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะเรื่องชาวโรฮีนจา เราได้เน้นย้ำว่าไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะราชอาณาจักรไทยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งเกี่ยวกับมนุษยธรรมที่ประเทศอื่นให้ความสนใจ จำเป็นต้องหาวิธีการ และต้องมีการพูดคุยกัน เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านไม่ดี โดยเฉพาะในพื้นที่ค็อกซ์บาซาร์ ซึ่งสภาพความเป็นอยู่ของคนที่นั่นไม่ดีเลย ทำให้อาจต้องเจอปัญหาใหม่ตามมา จากการขนชาวโรฮีนจาเข้ามาผ่านเรา อย่างที่เราเคยเจอกันมา

“จึงต้องมีมาตรการที่พูดคุยกัน มีการริเริ่มแนวทางเพื่อออกเป็นมาตรการเพื่อเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ และอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องโรฮีนจาเท่านั้น เพราะยังไม่รู้ว่าความขัดแย้งในเมียนมาจะปะทุไปอีกไกลขนาดไหน อาจจะมีชาวเมียนมาหรือชาวชาติพันธุ์ไหนก็ได้ ที่อาจใช้เรือ หรือใช้การขนส่งทางทะเล เข้ามาก็ได้ ซึ่งวันนี้ถือเป็นการพูดคุยที่ดี และเชื่อว่าจะนำไปสู่การร่วมมือทำงานที่ดีขึ้นทั้งสองฝ่าย” นายรังสิมันต์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend