สอบสวนกลาง แถลงเปิดปฏิบัติการ สกัดกั้นภัยออนไลน์ข้ามชาติ ความเสียหายกว่า 800 ล้าน

สอบสวนกลาง แถลงเปิดปฏิบัติการ CIB breaks up online scam syndicate สกัดกั้นภัยออนไลน์ข้ามชาติ มูลค่าความเสียหายกว่า 800 ล้านบาท
วันนี้ (12 มี.ค. 67) เวลา 14:00 น. พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอศ.) แถลงเปิดปฏิบัติการ CIB breaks up online scam syndicate สกัดกั้นภัยออนไลน์ข้ามชาติ มูลค่าความเสียหายกว่า 800 ล้านบาท
สำหรับพฤติการณ์ สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์ต่อตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กก.3 บก.ปอศ. ว่าได้ถูกกลุ่มคนร้ายชักชวนผ่านเพจเฟซบุ๊กหลอกให้ลงทุนหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ โดยมีการแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการหุ้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ก่อนชักชวนเข้าร่วมกลุ่มไลน์ VIP แนะนำการลงทุนในหุ้น ต่างประเทศซึ่งมีความแม่นยำและน่าเชื่อถือสูง และมีข้อมูลลับที่ใช้ในการลงทุน โดยให้ลงทุนผ่านแอปพลิเคชั่น Nicshare (ซึ่งเป็นแอปปลอม) โดยช่วงแรกสามารถทำกำไรได้จริง และสามารถถอนเงินได้บางส่วน เพื่อตั้งใจให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินลงทุนเพิ่มอีกหลายครั้ง แต่เมื่อลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ โดยกลุ่มคนร้ายอ้างว่าถ้าต้องการจะถอนเงินจะต้องการวางเงินประกันการลงทุนเพิ่ม และจะต้องเสียภาษี 20% ของกำไร จึงจะสามารถถอนเงินได้ เมื่อผู้เสียหายทำตามที่คนร้ายบอก แต่ก็ยังไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ และยังมีการอ้างว่าผู้เสียหายจะต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าประกัน และค่าภาษีเพิ่มซ้ำไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบยังพบว่า แอปพลิเคชั่นดังกล่าว ไม่ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่อย่างใด เบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียหายกว่า 50 ราย รวมมูลค่าความเสียหายเป็นเงินจำนวนกว่า 800 ล้านบาท
ภายหลังการสืบสวน เจ้าหน้าที่ทราบถึงขบวนการดังกล่าวว่ามีผู้ร่วมขบวนการทั้งคนไทย และชาวต่างชาติจำนวนหลายราย พบมีนายทุนเป็นชาวต่างชาติสัญชาติมาเลเซียเชื้อสายจีนจำนวนหลายราย เบื้องต้นพบยอดเงินหมุนเวียนในกลุ่มคนร้ายกว่า 5,000 ล้านบาท พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหากว่า 50 ราย
จึงนำไปสู่ปฏิบัติการ “CIB breaks up online scam syndicate สกัดภัยอาชญากรรมออนไลน์ข้ามชาติ” ทำการเข้าตรวจค้นคอนโดมิเนียมหรู 5 แห่ง ในพื้นที่ กทม. และมีการขยายผลจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมที่บริเวณชายแดนไทย – มาเลเซีย โดยตำรวจสามารถตรวจยึดของกลาง แบ่งเป็น คอมพิวเตอร์ 33 เครื่อง, โทรศัพท์มือถือ 65 เครื่อง, สมุดบัญชีธนาคาร 84 เล่ม, บัตรกดเงิน 13 ใบ, ซิมการ์ด 25 อัน, กระเป๋าแบรนด์เนม 15 ใบ, นาฬิกาแบรนด์เนม 7 เรือน,วัตถุคล้ายทอง 15 ชิ้น และรถยนต์หรู 1 คัน
จากการตรวจสอบประวัติ MR.LI สัญชาติมาเลเซีย (ผู้ต้องหาที่ 1) พบว่ามีประวัติเคยต้องโทษ ถูกดำเนินคดีที่ประเทศมาเลเซีย ในข้อหาเปิดหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝากของตน (บัญชีม้า) รับโอนเงินจากการกระทำความผิดมาแล้วกว่า 5 ครั้ง ก่อนจะเข้ามาพักอาศัยในประเทศไทยได้ประมาณ 3 ปี โดยไม่พบประวัติการทำงานในไทยแต่อย่างใด
จากการสอบถามคำให้การเบื้องต้น ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ให้การรับสารภาพบางข้อกล่าวหา โดยรับสารภาพว่าได้รับว่าจ้างจากนายทุนชาวต่างชาติ ให้หาบุคคลเพื่อจดจัดตั้งนิติบุคคลและเปิดบัญชีธนาคารในนามนิติบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับแอปพลิเคชันที่ใช้ในการหลอกลงทุน เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ และหลบเลี่ยงการตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินของภาครัฐ ซึ่งเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วนายทุนชาวต่างชาติจะส่งคนมา รับบัญชีที่ประเทศไทย โดยได้รับค่าจ้างในการดำเนินการดังกล่าวเริ่มต้นครั้งละ 100,000 บาท ทำมาแล้ว 2 ปีกว่า ก่อนจะมาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง จับกุมไว้ดังกล่าว