POLITICS

‘ศิริกัญญา‘ หวั่น แลนบริดจ์วาดฝันเกินจริง ไม่คุ้มค่า

‘ศิริกัญญา‘ หวั่น แลนบริดจ์วาดฝันเกินจริง ไม่คุ้มค่า ฝาก นายกฯ ศึกษาให้รอบคอบ ก่อนเดินหน้าออกโรดโชว์ต่อ

วันนี้ (5 ม.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงภาพรวมการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ว่าในประเด็นการอภิปรายโครงการแลนด์บริดจ์ มีการตั้งงบประมาณไว้ 2 ส่วนในงบปี 67 ประกอบด้วย 1. จ่ายงวดงานสุดท้ายของรายงานศึกษาความเป็นไปได้มูลค่า 68 ล้านบาท 2. ตั้งงบประมาณใหม่สำหรับการทำเอกสารเพื่อไปเชิญชวนนักลงทุนประมาณ 45 ล้านบาท ทั้งในการอภิปรายมีการชงและตบกันเอง จากเหตุการณ์ระหว่าง สส. พรรคเพื่อไทยกำลังอภิปรายเรื่องแลนด์บริดจ์ ซึ่งขณะนั้นนายเศรษฐาก็ลุกขึ้นตอบทันที มองว่าสิ่งที่พูดยังมีข้อผิดพลาดอยู่ และไม่ควรพูดไปเรื่อย ๆ ทั้งที่ไม่ได้เป็นความจริง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.เรื่องท่อน้ำมัน จากรายงานศึกษาที่จ่ายงบประมาณ 68 ล้านบาท ไม่พบว่ามีท่อน้ำมันอยู่ในโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งมีท่าเรือ 2 ท่า พร้อมกับทางรถไฟ และถนนเพื่อที่จะเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือของในจังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร พบมีการเว้นพื้นที่ไว้สำหรับการวางท่อน้ำมัน แต่ในการศึกษาความเป็นไปได้ ไม่มีเรื่องท่อน้ำมันอยู่ในการศึกษา ดังนั้นการที่จะไปหานักลงทุนการขนถ่ายน้ำมันข้ามระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก “นั่นก็อาจจะเป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดตัวไปสักนิด” หรือเราก็จะต้องรื้อรายงานศึกษาความเป็นไปได้ที่เราจ่ายงบประมาณไปแล้ว 68 ล้านบาท ไปปรับเปลี่ยนแผนในการทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จาก EIA เป็น EHIA เท่ากับการรื้อทั้งหมด ซึ่งจะไม่ตรงกับสิ่งที่ได้ผ่านมติ ครม.ไปแล้ว

2.ช่องแคบมะละกาไม่ได้แออัด จากการสอบถามเรื่องนี้กับคนที่อยู่ในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ทั้งเดินเรือ ทั้งคนที่เป็นผู้ขนส่งทางเรือ ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่องแคบมะละกาไม่ได้แออัดขนาดนั้น เพราะจากที่นายเศรษฐากล่างถึงเรื่องนี้ว่า ช่องแคบมะละกามีความแออัด จึงทำให้ต้องมีโครงการแลนด์บริดจ์ แต่ในการประชุมกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ มีตัวแทนจากทางหอการค้าตอบคำถามเรื่องนี้ โดยเล่าว่าเคยเชิญรัฐมนตรีในอดีตไปร่วมลงเรือคาร์โกสำรวจพื้นที่พบว่า ไม่ได้แออัดอย่างที่กล่าวอ้าง แม้ในจุดที่แคบที่สุด โดยรัฐมนตรีในอดีตคนนั้นยังกล่าวว่า ฝั่งอยู่ที่ไหน มองออกไปไม่เห็นแม้แต่เรือ แล้วก็ไม่เห็นแม้แต่ฝั่งเลยทีเดียว ดังนั้นเรื่องของช่องแคบมะละกาที่แออัด ยังไม่ใช่เหตุผลที่เราควรจะต้องสร้างโครงการแลนบริดจ์

3.ถ้าแออัดจริงประเทศสิงคโปร์ก็คงไม่ลงทุนสร้างท่าเรือใหม่เพิ่มความจุเป็น 2 เท่าจากเดิม

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่าการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดนั้น เพื่อให้นายเศรษฐาได้ทราบว่าจากการที่เราทำงานในชั้นกรรมาธิการได้พูดคุยกับคนที่อยู่ในวงการธุรกิจอยู่ในสายเดินเรือ พบว่าตัวเลขความคุ้มค่าที่มีมติ ครม. ไปแล้ว และจากที่นายเศรษฐาไปทำโรดโชว์ในที่ต่าง ๆ

“เป็นรายงานที่สูงเกินจริง ตัวเลขสวยหรูเกินจริง ประเมินรายได้สูงเกินจริง แล้วก็ค่าใช้จ่ายต่ำเกินจริง”

พร้อมมีการประมาณการการประหยัดเวลา และต้นทุนที่สูงเกินจริง ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้ประหยัดเวลามากอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ ความผิดพลาดเหล่านี้เราอาจจะไม่ต้องกังวลมาก เพราะว่าสุดท้ายคาดว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการ PPP ที่เอกชนจะมาลงทุนเองเกือบ 100% แต่ถ้านักลงทุนไม่มาเพราะวาดแผนสวยหรูเกินจริง คงไม่ต้องกังวลเพราะสุดท้ายโครงการนี้ก็คงจะไม่เกิดขึ้น เพราะว่าถ้าสุดท้ายแล้วรอแล้วรอเล่าก็ไม่มีนักลงทุนมาสักที คนที่จะนอนไม่หลับก็คือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ที่กำลังจะถูกเวนคืน จะไม่เหลือความมั่นคงอะไรในชีวิตโดยที่จะต้องลุ้นไปวันต่อวันว่า บ้านของเขาจะถูกเวนคืนหรือไม่ ยังไม่นับผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากมายที่กำลังจะเกิดขึ้น

น.ส.ศิริกัญญา ยืนยัน เห็นด้วยกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้เป็นอย่างมาก และเห็นด้วยกับการที่จะมีท่าเรือที่ระนอง การปรับปรุงท่าเรือเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือว่าจะสร้างใหม่ก็ตามให้เป็นท่าเรือยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เห็นด้วยกับการมีโครงข่ายระบบรางเชื่อมต่อเพื่อที่จะขนถ่ายสินค้าจากทั่วประเทศมาลงที่ท่าเรือนี้ เห็นด้วยกับการทำนิคมอุตสาหกรรมหลังท่าพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ให้ขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ แต่สิ่งที่ยังคงกังขาก็คือ ความคุ้มค่าของโครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นจริง หรือไม่ จะคุ้มค่าสวยหรูเหมือนตามที่ได้มีมติ ครม. ไปผ่านทางโดยใช้ข้อมูลจากรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) ที่ทำไปแล้วหรือไม่ “ต้องฝากนายเศรษฐาไปศึกษาให้รอบคอบ ก่อนที่จะเดินหน้าทำโรดโชว์ต่อ เพราะว่าถ้าพูดผิดพูดถูกไป จะไม่เกิดผลดีกับภาพลักษณ์ของประเทศ”

Related Posts

Send this to a friend