’นิกร‘ ส่งหนังสือถึง 2 สภา เตรียมถามความเห็นเชิงลึกทำประชามติแก้ รธน.
’นิกร‘ ลงนามส่งหนังสือถึง 2 สภา เตรียมถามความเห็นเชิงลึกทำประชามติแก้ รธน. ช่วงสมัยประชุม ก่อนสรุปชง ครม. ต้นเดือนมกราคม ปีหน้า
วันนี้ (4 ธ.ค. 66) นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กล่าวว่า ตนเองได้ลงนามในหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาซึ่งเป็นหนังสือสอบถามความคิดเห็นเพื่อขออนุญาตสอบถาม สส.และ สว.ในวันที่เปิดสมัยประชุมสภา และจากนั้นวันที่ 20-21 ธันวาคม จะรวบรวมข้อมูลจากทั้ง สส.-สว. และ ภาคประชาชนที่ได้เดินสายสอบถามทั่วทุกภูมิภาคเพื่อส่งให้คณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายภูมิธรรม เวชชัย เป็นประธาน โดยได้นัดประชุมในช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ เพื่อตั้งเป็นตุ๊กตาคำถาม ที่จะถามต่อประชาชน
โดยจะถามมากไม่ได้ แต่คาดว่าน่าจะมีคำถามพ่วงที่เกี่ยวกับ ส.ส.ร. ก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาช่วงต้นเดือนมกราคม 2567 ส่วนคำถามที่ไอลอว์ (iLaw) เสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นความเห็นตรงกับเสียงส่วนใหญ่อยู่แล้ว แต่จะไปพิจารณาอีกทีว่าจะนำเข้าไปร่วมด้วยหรือไม่
ส่วนเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.การจัดทำประชามติที่ยังติดขัดเรื่องเสียงประชาชนในการออกเสียงประชามตินั้น ตนเองได้เสนอให้มีการใช้เสียงข้างมากของประชาชนที่มาใช้สิทธิ์ แต่ไม่ต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ ซึ่งคณะกรรมการชุดใหญ่เห็นว่าอาจจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก จึงยังไม่มีการยกร่าง และในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ จะนำคณะร่วม 10 คน เข้านัดหารือร่วมกับเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย เพราะสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการจัดทำประชามติบ่อยที่สุด และทำได้ดีมาก เพราะใช้ประชาธิปไตยทางตรง เราก็ต้องฟังความเห็นในประเทศที่พัฒนาไปมาก เพื่อนำมาพัฒนาบ้างเพราะกฎหมายประชามติไม่ได้มีเพื่อรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว
สำหรับคำถามที่จะถามสมาชิกรัฐสภา นายนิกร กล่าวว่า เป็นคำถามเชิงลึก ไม่เหมือนกับที่ถามประชาชนทั่วไป ส่วนจะมีการสอบถามศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นเรื่อง ของพรรคการเมือง ที่สามารถสอบถามได้ คณะกรรมการ จะไม่สอบถาม เพราะคิดว่าไม่สามารถสอบถามได้ เพราะไม่มีอำนาจ
ทั้งนี้ คำถามสำหรับการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก มีจำนวน 5 ข้อ 1. เห็นสมควรจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยมี 3 คำตอบคือ เห็นสมควรจัดทำทั้งฉบับยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 / จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ / ไม่เห็นสมควรให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
2.ในกรณีที่เห็นว่าไม่ควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับเห็นสมควรแก้เป็นรายมาตราหรือไม่
3.ในกรณีเห็นควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเนื้อหา รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีปัญหาประการใด ที่จำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งสามารถเลือกคำตอบได้มากกว่า 1 ข้อ ประกอบด้วย การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน / การมีส่วนร่วมทางการเมือง / ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติฝ่ายบริหารฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ / วิธีและกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก /และอื่นๆ
4.ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ สมควรตั้งส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมดหรือไม่ /สมควรตั้ง ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนและวิธีการได้มาตามที่กรรมาธิการกำหนด
5.ในการจัดทำประชามติเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ทำก่อนเริ่มดำเนินการใดๆ ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงมติเสียก่อน และเห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดให้มีการทำประชามติ เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง ก่อนนายกรัฐมนตรีจะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ