POLITICS

‘ศิริกัญญา’ มองดิจิทัลวอลเล็ตไม่จ่ายถ้วนหน้า ไม่ต่างกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

‘ศิริกัญญา’ แนะ รัฐบาลทบทวนนโยบายใหม่ มอง ปรับเกณฑ์ดิจิทัลวอลเล็ตไม่จ่ายถ้วนหน้า อุปสรรคใหญ่คืองบไม่เพียงพอ หวั่น โครงการไม่ต่างกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ชี้ หากออก พ.ร.ก. เงินกู้เป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง

วันนี้ (26 ต.ค.66) เวลา 10.00 น. นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ที่อาคารรัฐสภา ถึงกรณีที่กระทรวงการคลังออกหลักเกณฑ์ใหม่ว่านโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท อาจจะไม่ได้รับครบทุกคน มองกรณีอย่างไร ว่า ตนเองคิดว่าปัญหาสำคัญที่จำเป็นจะต้องมีการปรับหลักเกณฑ์ที่คัดกรองคนรวยออก ไม่ว่าจะเป็น 1. คนที่มีเงินเดือน 25,000 บาท ขึ้นไป 2. เงินเดือนเกิน 50,000 บาท ขึ้นไป 3. ตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลน่าจะมีปัญหาในเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการอย่างแน่นอน จึงจำเป็นที่จะต้องลดจำนวนคนที่ได้รับผลประโยชน์ แต่ถึงแม้จะพยายามลดจำนวนลงแล้ว แต่ยังพบว่ามีคนที่จะต้องได้รับอยู่ที่ประมาณ 43-49 ล้านคนอยู่ดี ดังนั้นโอกาสที่จะใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ก็มีค่อนข้างน้อย

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่ออีกว่ายังมีข้อเสนอว่าจะใช้งบผูกพันปีละ 1 แสนล้านบาท เป็นเวลา 4 ปี ยิ่งชัดเจนว่าหลังจากคำนวณแล้ว แสดงว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 มีที่ว่างให้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพียงแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น และหากต้องผูกพันไป 4 ปี เท่ากับว่าจะมีร้านค้าบางส่วนที่จะไม่ได้รับเงินสดในทันที แต่ต้องรอแลกเป็นรายรอบปีงบประมาณ ซึ่งจะกระทบกับร้านค้า เพราะหากต้องการเงินสดมาหมุนเวียนในร้านค้าของตัวเอง ก็จะไม่มีแรงจูงใจมากพอ และจะไม่เข้าร่วมในโครงการนี้ด้วยซ้ำ เป็นการตอกย้ำกับสิ่งที่ตนเองเคยพูดว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาถึงทางตันแล้ว เนื่องจากไม่สามารถที่จะให้ธนาคารของรัฐ หรือธนาคารออมสินดำเนินโครงการนี้ออกไปก่อนได้ จึงติดข้อจำกัดหลักที่เป็นตอใหญ่ คือเรื่องของงบประมาณและที่มาที่จะต้องใช้ในครั้งนี้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า คิดว่าการปรับเงื่อนไขในครั้งนี้ต้องพิจารณาด้วย ว่ายังคงสามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์และผลที่คาดว่าจะได้รับดั้งเดิมหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนไปหมดแล้วก็อาจจะต้องทบทวนวิธีการและนโยบายใหม่ทั้งหมดด้วยซ้ำไป

ส่วนการปรับหลักเกณฑ์จะทำให้จำนวนผู้ที่ได้รับเงินลดลงไป สะท้อนอะไรได้บ้าง น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า จริงๆ ลดไปแค่นิดเดียว หากใช้เกณฑ์แรกจะลดลงไปแค่ 13 ล้านคน หากใช้เกณฑ์ที่สอง จะลดไปแค่ 7 ล้านคน ดังนั้นการปรับหลักเกณฑ์เหล่านี้อาจจะไม่ช่วยอะไรมากนักในแง่ประหยัดงบประมาณลง ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไรต่อ แต่ถ้าปรับไปใช้ทางเลือกที่สาม คือใช้เกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซ้ำ แต่เป็นการประคับประคองค่าครองชีพให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน เป็นการเปลี่ยนรูปแบบวัตถุประสงค์ และผลที่จะได้รับอย่างชัดเจน ดังนั้นถ้าจะคงรูปแบบเป็นแค่การแจกเงินไว้ แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่พูด ก็ควรจะต้องมีการทบทวน เข้าใจดีว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ แต่ถ้าสามารถบอกได้อย่างตรงไปตรงมา ว่าติดปัญหาเรื่องอะไร ก็คิดว่าประชาชนจะเข้าใจได้ ว่ารัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะทำโครงการนี้ แต่มีอุปสรรคชิ้นใหญ่ คืองบประมาณ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คำว่า “ทบทวน” หมายถึงยกเลิกโครงการนี้ใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นการเปลี่ยนวิธีการมากกว่า เข้าใจดีว่าสัญญาทางใจที่มีไว้ให้ผู้สนับสนุนก็สำคัญเช่นกัน แต่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน เราก็มีวิธีการที่จะไปได้หลายทาง

สุดท้าย โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตนี้จะกลับไปเป็นเหมือนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ต้องรอดูว่าจะกลายเป็นรูปแบบนั้นหรือไม่ แต่งบประมาณที่นำไปทบทวนกับแต่ละหน่วยงานของรัฐนั้น เขาดำเนินการเสร็จแล้ว และเริ่มทยอยส่งกลับมาที่สำนักงบประมาณแล้ว ดังนั้นสำนักงบประมาณ มีข้อมูลอยู่ในมือแล้ว ว่าสามารถตัดลดหรือเกลี่ยงบประมาณของปี 67 ได้เท่าไหร่ ซึ่งปรากฏว่าได้แค่ 1 แสนล้านบาท ดังนั้นถ้าจะไม่ทำงบประมาณผูกพันข้ามปี ทางออกทางเดียว คือให้เฉพาะผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเพียงแค่การเยียวยาค่าครองชีพ ซึ่งต้องบอกรัฐบาลว่าต้องทบทวนวัตถุประสงค์ของโครงการนี้อย่างจริงจัง อย่ายึดติดที่รูปแบบ แต่ให้ดูที่เป้าหมายว่าอยากได้ผลลัพธ์อะไร และออกแบบนโยบายให้เป็นไปตามนั้นมากกว่า

ในส่วนของฝ่ายค้านจะดำเนินการตรวจสอบโครงการนี้อย่างไรบ้าง น.ส.ศิริกัญญา เผยว่า ต้องรอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีมติออกมาก่อน เพราะขณะนี้มีเพียงแค่ความเห็นของอนุกรรมการเท่านั้น เรายังใจดีให้เวลารัฐบาลกลับไปคิดทบทวนรายละเอียดทุกอย่าง และให้คณะกรรมการชุดใหญ่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเราจะทำการตรวจสอบกันต่อไป ซึ่งหลายคณะกรรมาธิการได้ตั้งท่ารอที่จะเรียกหน่วยงานมาพูดคุยในรายละเอียดอยู่ ส่วนกระทู้สดก็ยังรออยู่แม้จะเป็นช่วงปิดสมัยประชุมไปแล้ว แต่เปิดสมัยประชุมเมื่อไหร่ ก็คงจะมีการพูดคุยในเรื่องนี้อย่างแน่นอน

โดยจากหลักเกณฑ์ที่ออกมา การคัดกรองจะมีปัญหาหรือไม่ว่าใครมีรายได้เท่าไหร่บ้าง น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่อยากให้สับสนในเรื่องนี้ เพราะปัญหาใหญ่คือเรื่องของงบประมาณมากกว่า ส่วนในเรื่องของหลักเกณฑ์เข้าใจว่าเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในการคัดครองผู้ที่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยดูรายได้จากการยื่นต่อสรรพากร และขอข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์ว่ามีเงินฝากเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าจะยาก แต่อาจจะมีความผิดพลาดเพราะบางคนอาจจะไม่ได้ยื่นรายได้ต่อสรรพากร หรือมีสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินฝาก

ในส่วนกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า จะไม่ใช้งบผูกพัน แต่หากงบกลางปี 67 ไม่เพียงพอ ก็จะต้องใช้งบผูกพันใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ถ้าเป็นหลักเกณฑ์แรกที่จะต้องใช้เม็ดเงินจำนวร 430,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 67 มีไม่พออย่างแน่นอน ถ้าไม่ใช่งบผูกพันเลยก็น่าจะมีเม็ดเงินอยู่ 1 แสนล้านบาท ซึ่งก็จะเปิดทางให้หลักเกณฑ์ข้อที่สาม นั่นคือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดังนั้นจึงอยากให้พุ่งไปที่แหล่งที่มางบประมาณมากกว่า ว่ามีเงินเท่าไหร่กันแน่ที่จะใช้ทำโครงการนี้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวถึงในกรณีที่ หากอนุกรรมการหารือกับธนาคารกรุงไทย จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ว่า ยิ่งเป็นไปไม่ได้กันใหญ่ น่าจะหารือกับธนาคารกรุงไทยในเรื่องการทำซุปเปอร์แอพ เพราะธนาคารกรุงไทยมีประสบการณ์ในการทำแอพพลิเคชั่นเป๋าตังมาก่อน ธนาคารกรุงไทยน่าจะเป็นผู้ดำเนินการทำแอพพลิเคชันต่อได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการนี้นั้น ไม่ใช่มาจากธนาคารออมสิน เพราะติดข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออมสิน มาตรา 7 ที่ระบุวัตถุประสงค์ที่ธนาคารสามารถทำได้ ซึ่งไม่มีข้อไหนที่จะให้ดำเนินโครงการแจกเงินได้เลยแม้แต่ข้อเดียว ไม่อย่างนั้นต้องแก้ไขกฎหมายผ่านสภาฯ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรหากรัฐบาลเลิกใช้วิธีออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน เป็นหนทางสุดท้าย น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในทางเทคนิคการออก พ.ร.ก. เงินกู้เหมือนช่วงวิกฤติโควิด ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินนั้นเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด แต่ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจน ว่า พ.ร.ก. จะออกได้ เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น ก็ต้องถามสำนักบริหารหนี้ (ส.บ.น.) ว่าจะยอมกู้ให้หรือไม่ ในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ แต่ในทางการเมืองต้องยอมรับว่า การออก พ.ร.ก. เงินกู้ขณะนี้ ที่ไม่ได้เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจหนักขนาดนั้นก็ต้องเจอแรงต้านมหาศาลแน่นอน

“เตือนไว้ว่า ถ้าออกเป็น พ.ร.ก. เงินกู้เมื่อไหร่ นี่อาจจะเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองได้” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

Related Posts

Send this to a friend