ยูนิเซฟ ชี้ เด็กภาคใต้เผชิญความหลื่อมล้ำหลายมิติ อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการระยะยาวในเด็ก

ผลสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ ชี้ เด็กภาคใต้เผชิญความหลื่อมล้ำหลายมิติ ‘ขาดภูมิคุ้มกันโรค-โภชนาการ-ทักษะการเรียนรู้’ ย้ำอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการระยะยาวในเด็ก
วันนี้ (27 ก.ย. 66) สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับยูนิเซฟ จัดทำผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีแบบเจาะลึกระดับจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแม้การพัฒนาเด็กในภาพรวมจะมีความก้าวหน้าในหลายด้าน แต่เด็กภาคใต้จำนวนมากยังคงขาดแคลนและเข้าไม่ถึงการพัฒนาในอีกหลายมิติ เช่น ขาดโภชนาการที่เหมาะสม ขาดภูมิคุ้มกันโรค ไม่ได้เข้าเรียน และขาดทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้
ผลสำรวจครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีทั่วประเทศไทย 2565 หรือ MICS (Multiple Indicator Cluster Survey 2022) ซึ่งมีการเผยแพร่ผลสำรวจระดับชาติไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลสำรวจล่าสุดเป็นการสำรวจแบบเจาะลึกใน 12 จังหวัดที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุด รวมถึง 6 จังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ ระนอง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
นางปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้ทำให้ทราบสถานการณ์เด็กและสตรีในระดับจังหวัด รวมทั้งเข้าใจถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเด็กและสตรี นำไปสู่การวางแผนงานและกำหนดโครงการต่าง ๆ ในการพัฒนาเด็กและสตรีอย่างเหมาะสมกับบริบทของจังหวัด นอกจากนี้ ยังใช้เป็นพื้นฐานของตัวชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ในหลายเป้าหมาย เพื่อสนองต่อนโยบายระดับประเทศที่จะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
ผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงปัจจัยเชิงบวกในบางมิติของพื้นที่ภาคใต้ เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในภาคใต้อาศัยอยู่กับพ่อแม่มากกว่าเด็กในภาคอื่น ๆ ของประเทศ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 25 อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่ากังวลในอีกหลายมิติ เช่น มีเด็กอายุ 1 ปีในจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี เพียงร้อยละ 44, 29, และ 27 ตามลำดับเท่านั้นที่ได้รับภูมิคุ้มกันครบถ้วน เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด โปลิโอ และวัณโรค เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วประเทศที่ร้อยละ 83
นอกจากนี้ เด็กในภาคใต้ยังเป็นกลุ่มที่เผชิญปัญหาทุพโภชนาการมากที่สุดในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการในระยะยาว โดยร้อยละ 26 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในจังหวัดระนองมีภาวะเตี้ยแคระแกร็น สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 2 เท่า ขณะที่อัตราเตี้ยแคระแกร็นของเด็กวัยนี้ในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส อยู่ที่ร้อยละ 20 ขณะเดียวกัน จังหวัดสงขลามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อยู่ในภาวะผอมแห้งสูงถึงร้อยละ 26 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเกือบ 4 เท่า และในจังหวัดนราธิวาส อัตรานี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเกิน 2 เท่า ที่ร้อยละ 16
สำหรับอัตราการเข้าเรียนหลักสูตรปฐมวัยและทักษะขั้ขั้นพื้นฐานของเด็กในภาคใต้ก็น่าเป็นห่วง โดยเด็กอายุ 3-4 ปีในจังหวัดยะลาเพียงร้อยละ 57 เท่านั้นที่เข้าเรียนในหลักสูตรปฐมวัย ขณะที่จังหวัดระนอง และนราธิวาส อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 61 และ 65 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามยังมีเด็กจำนวนมากที่ขาดทักษะขั้นพื้นฐานที่จำเป็น โดยมีเด็กอายุ 7-8 ปี ในจังหวัดนราธิวาสเพียงร้อยละ 15 ที่มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐาน จณะจังหวัดปัตตานี และยะลา อยู่ที่ร้อยละ 17 และ 27 ตามลำดับ
การสำรวจยังพบอีกว่า เด็กเข้าถึงและใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นนขณะที่อ่านหนังสือที่บ้านน้อยลง โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในจังหวัดนราธิวาสเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นมีหนังสือสำหรับอ่านที่บ้านอย่างน้อย 3 เล่ม และในจังหวัดสตูล สงขลา และปัตตานี มีเพียง 1 ใน 5 ที่มีหนังสือที่บ้าน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ร้อยละ 36
นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า พวกเราทุกคนต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน การสำรวจแบบเจาะลึกทำให้เห็นปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และพัฒนาการของเด็กในระยะยาว ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังโดยอาศัยเจตจำนงทางการเมืองและความมุ่งมั่นจากทุกฝ่ายเพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่ทิ้งเด็กคนใดในประเทศไทยไว้ข้างหลัง