กรมอนามัย เผยเด็กไทยมีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้น
แนะ ‘กินอาหารถูกหลัก-ออกกำลังกาย-พักผ่อนให้เพียงพอ’ สร้างเยาวชนไทยแข็งแรง ลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ (National Youth Day) ซึ่งเด็กและเยาวชนไทยเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะพัฒนาประเทศให้มีความเจริญ จำเป็นต้องพัฒนาเด็กให้มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านสุขภาพอนามัย
จากรายงานข้อมูลภาวะโภชนาการของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบเด็กอายุ 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนร้อยละ 13.0 และเด็กอายุ 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนร้อยละ 16.9 เกินกว่าค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 12.0 อีกทั้ง ข้อมูลในปี 2538–2557 พบว่าเด็กและเยาวชนไทยติด 1 ใน 3 ของอาเซียนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน และมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดย 1 ใน 2 ของเด็กอายุ 12 ปี ดื่มเครื่องดื่มรสหวานและน้ำอัดลมมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน และ 1 ใน 3 ของเด็กและเยาวชนไทยกินขนมถุงเป็นประจำทุกวันมากกว่า 2 ครั้ง
นอกจากนี้ สถานการณ์ในปี 2565 ยังพบว่าเด็กและเยาวชน อายุ 5-17 ปี มีกิจกรรมทางกายเพียงพอลดลงเหลือเพียงร้อยละ 16.1 (เป้าหมาย ร้อยละ 40) รวมทั้งมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มสูงขึ้น 15.16 ชั่วโมงต่อวัน (เป้าหมายไม่เกิน 13 ชั่วโมงต่อวัน) อาจนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ควรเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยอาศัยครอบครัวในการสร้างวินัยเชิงบวกด้านสุขภาพ ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเห็นความสำคัญของสุขภาพ เข้าใจข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้องและตัดสินใจดูแลสุขภาพตนเองให้ได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่การมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ ที่สมบูรณ์แข็งแรง มีความพร้อมในการเรียนรู้และส่งผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเพื่ออยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
ทั้งนี้ กรมอนามัยจึงสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยมีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ดี 4 ด้าน ได้แก่
1) กินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการครบ 5 หมู่ อย่างหลากหลาย ในสัดส่วนปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งเด็กอายุ 6–14 ปี ควรได้รับพลังงานเฉลี่ย 1,600 กิโลแคลอรี ในแต่ละวันควรกินข้าวหรือแป้ง 8 ทัพพี เนื้อสัตว์ 6 ช้อนกินข้าว ผัก 12 ช้อนกินข้าว นม 2 แก้ว และให้มีผลไม้ 6–8 ชิ้นพอดีคำทุกมื้อ
2) ลดหวาน มัน เค็ม หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น รวมทั้งเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน อาหารแช่แข็งพร้อมทาน ควบคุมการซื้อขนมกรุบกรอบ เครื่องดื่มรสหวานจัด น้ำอัดลม ชานมไข่มุก และจัดเตรียมนมรสจืด และผลไม้ไว้ในตู้เย็นแทน ดื่มน้ำสะอาด 6–8 แก้วต่อวัน
3) ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน อายุ 6-17 ปี มีการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น มีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนัก หรือจนรู้สึกเหนื่อยเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติมโตที่สมวัย มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคต นอกจากนี้ การออกกำลังกายจะช่วยพัฒนาระบบกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ หัวใจ และปอด ให้แข็งแรง รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคอ้วนในเด็ก ช่วยในเรื่องการเรียนรู้ ความจำ และมีสมาธิดีขึ้น มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จิตใจแจ่มใส ช่วยผ่อนคลายความเครียด
4) ส่งเสริมการนอนหลับให้เพียงพอในเด็กและเยาวชน อายุ 6-13 ปี ควรนอนหลับวันละ 9-11 ชั่วโมง และอายุ 14-17 ปี ควรนอนหลับวันละ 8-10 ชั่วโมง จะทำให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง