คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ – ผู้เชี่ยวชาญในอเมริกา ศึกษาวิจัยการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในไทย

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดงาน “Global Collaboration to Improve Stroke Care in Thailand and Beyond” เมื่อวันพุธที่ 13 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 303 ชั้น 3 อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อสร้างเสริมความรู้และความเข้าใจ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้นของโลก ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสังคม
บรรยากาศภายในงาน เริ่มจาก รศ.(พิเศษ) พญ.อรอุมา ชุติเนตร ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวต้อนรับผู้มาร่วมงาน จากนั้น รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวเปิดงาน โดยมีแขกผู้มีเกียรติมาร่วมมากมายอาทิ Assoc. Prof. Ashutosh Jadhav, World-renowned Interventional Neurologist Barrow Neurological Institute, Arizona,USA Chief Scientific Officer,Gravity Medical Technology และ รศ.นพ.คุณากร อัชชนียะสกุล Vascular and Interventional Neurologist Virginia Mason Medical Center,Washington,USA CEO,Gravity Medical Technology Inc.
ทั้งนี้ “โรคหลอดเลือดสมอง” เป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญทั่วโลก การพัฒนาหัตถการ mechanical thrombectomy ด้วยเครื่องมือแพทย์ในกลุ่ม stent retriever เป็นการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลัน ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ปัจจุบันมีผู้ป่วยไม่ถึง 5 % ทั่วโลกที่สามารถเข้าถึงการรักษานี้ได้ โดยข้อมูลที่มีอยู่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ ประชากรชาวคอเคเชียน ซึ่งจำกัดความเข้าใจ เกี่ยวกับผลการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับผู้ป่วยชาวไทยและชาวเอเชียที่เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเฉพาะ เช่น ภาวะหลอดเลือดในสมองตีบ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาและพัฒนาแผนการรักษา ที่ปรับให้เหมาะกับผู้ป่วย ในประเทศเอเชียโดยเฉพาะ
ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย มีผู้เสียชีวิตถึงปีละ 70,000 ราย และเป็นสาเหตุความพิการในระยะยาว โรคนี้พบบ่อยในผู้สูงอายุ ประเทศไทยมีความก้าวหน้า ในการดูแลรักษาโรคหลอดเลือดสมอง โดยมีนวัตกรรมการรักษา ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระยะเฉียบพลัน ซึ่งต้องสั่งจากต่างประเทศและมีราคาสูง ความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กับ Gravity Medical Technology Inc. สหรัฐอเมริกาที่มีผู้เชี่ยวชาญในโรคนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่ช่วยให้การรักษาโรคนี้ มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ด้วยวิธีการรักษาใหม่ๆ เป้าหมายหลักคือทำให้คนไทย และคนในภูมิภาคเอเชียมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือถ้าเป็นโรคนี้แล้วก็จะช่วยให้การรักษาผู้ป่วย เป็นโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลัน เป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่พิการหรือเสียชีวิต
“อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา ที่มาร่วมการประชุมในครั้งนี้ มีความชำนาญอย่างยิ่งในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลัน มีเครื่องมืออุปกรณ์ใหม่ๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทย พัฒนาการรักษาโรคนี้อย่างก้าวกระโดด” ศ.พญ.นิจศรี กล่าว
ขณะที่ รศ.นพ.คุณากร อัชชนียะสกุล แพทย์เฉพาะทางด้านโรคหลอดเลือดสมอง และหัตถการทางด้านโรคหลอดเลือดสมอง Gravity Medical Technology Inc จาก มลรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า การร่วมงานกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในครั้งนี้เนื่องจากประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์ มีอัตราการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ จำนวนมากในแต่ละปี รวมทั้งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศ ที่มีอัตราการรักษาผู้ป่วยโรคนี้สูง เนื่องจากมีอัตราแพทย์ต่อคนไข้โรคเลือดสมอง มากกว่าประเทศอื่น
ทางทีมแพทย์ที่ใช้ชื่อว่า Gravity Mission จากสหรัฐอเมริกา มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทยและทั่วโลก ได้รับการรักษาเท่าเทียมกัน รวมทั้งพัฒนาการวิจัย และการรักษาโรคนี้ในประเทศไทย ให้เป็นต้นแบบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป้าหมายแรกคือการวิจัยโดยการนำอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ที่เป็นเทคโนโลยีทันสมัย มาใช้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อการรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที
สำหรับความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กับเครือข่ายทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติในครั้งนี้ เป็นการศึกษาเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของ Stent-retriever ในการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง โดยเน้นที่ผู้ป่วยชาวไทยและชาวเอเชียโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน จากหลอดเลือดในสมองตีบ มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น เพื่อพัฒนาความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าว ที่ยังขาดแคลนและนำไปสู่การพัฒนาแนวทาง การรักษาที่เหมาะสมสำหรับประเทศในเอเชีย
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในการทำวิจัย เป็นการแสวงหาความร่วมมือ ระหว่างประเทศเพื่อเปรียบเทียบและรวมข้อมูลจาก clinical registry อื่นๆ ในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ และอำนวยความสะดวก ในการทำความเข้าใจ ที่ครอบคลุมมากขึ้นเกี่ยวกับผลลัพธ์ ของการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ในประชากรที่แตกต่างกัน โดยจะมีการเผยแพร่ผลการศึกษาผ่านสิ่งพิมพ์ที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ การประชุมระหว่างประเทศ และฟอรัมทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มั่นใจว่า มีการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ จากผลการวิจัยอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้จะมีการลงทะเบียน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลันชาวไทย และชาวเอเชียจำนวนกว่า 200 คน ด้วยการเก็บข้อมูลแบบ Prospective ที่ได้รับการรักษาด้วย Mechanical Thrombectomy โดยใช้ Stent-retriever การรวบรวมข้อมูลจะรวมถึง ข้อมูลประชากรของผู้ป่วย ลักษณะทางคลินิก รายละเอียดขั้นตอน และผลลัพธ์หลังการรักษา การวิเคราะห์ย่อยจะมุ่งเน้นไปที่การประเมินลักษณะ และผลลัพธ์ของผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลัน ที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองตีบ ข้อค้นพบจากการลงทะเบียนผู้ป่วย จะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของอุปกรณ์ใส่ขดลวด
สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ในผู้ป่วยชาวไทยและชาวเอเชีย และจะนำไปสู่ข้อมูลในการศึกษา โรคหลอดเลือดสมองอุดตันในประชากรเอเชีย และเป็นต้นแบบในการพัฒนาแนวทาง การรักษาที่เหมาะกับความต้องการ เฉพาะของกลุ่มประชากรดังกล่าวต่อไป