’สมชาย‘ เตือนเอื้อ ‘ทักษิณ’ เข้าเกณฑ์พักโทษพิเศษ หากไม่ถูกต้องอาจต้องติดคุกแทน
ชี้ สังคมตั้งคำถาม ถ้าได้ลดโทษแล้วก็ควรดำเนินการตามกระบวนการปกติ ย้ำ อย่าพยายามเขียนระเบียบอะไรที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบือน
วันนี้ (18 ม.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สว.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีที่กรมราชทัณฑ์ ระบุว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าเกณฑ์พักโทษ ว่า กรมราชทัณฑ์ต้องดูว่านักโทษเด็ดขาดผู้ใดที่มีความประพฤติดี มีการช่วยเหลือราชการเป็นพิเศษ นายทักษิณอยู่ในเกณฑ์หรือไม่ และมีการรับโทษมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 อย่างใดมากกว่ากันจึงจะเข้าเกณฑ์ แต่สิ่งที่แถลง ไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นการพักโทษพิเศษได้อย่างไร ซึ่งต้องยึด พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 เป็นตัวตั้ง และระเบียบกระทรวง 2563 กับระเบียบที่ออกใหม่เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ไม่ได้เกิดจากการให้ไปพักรักษาตัวที่บ้าน รวมถึงการพักโทษก่อน 6 เดือนทำไม่ได้ และระเบียบที่อ้างกันก็ไม่ได้มีเจตนารมณ์ให้กลับไปอยู่บ้าน แต่มีความพยายามอ้างเรื่องการพักอยู่ที่บ้าน สิ่งสำคัญคือบ้านที่ไปพักต้องมีลักษณะเป็นเรือนจำหรือไม่ หากมีลักษณะเป็นเรือนจำแล้วมีสภาพคุมขังได้หรือไม่ หากบ้านมีสภาพคุมขังได้ก็หมายความว่านักโทษคนอื่นต้องไปพักได้ด้วย ไม่ใช่บ้านของใครคนใดคนหนึ่ง
“ผมยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ที่พยายามอธิบายสังคมว่าพักโทษเป็นกรณีพิเศษ และคุณทักษิณจะเข้าข่ายเช่นนั้นหรือไม่ ผมคิดว่าเมื่อคุณทักษิณได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยอมรับผิด ขอรับโทษ และศาลตัดสินต้องจำคุก 8 ปีแล้ว แต่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี ก็ควรดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยไม่ขอรับพระราชทานลดโทษเพิ่มเติมอีก การจะพยายามทำอะไรของฝ่ายการเมือง ฝ่ายกรมราชทัณฑ์ ก็ขอให้ยึดหลักกฏหมายให้ดี เพราะท่านเป็นกระบวนการยุติธรรมท้ายน้ำ อย่าทำให้เกิดวิกฤตศรัทธา ขอย้ำว่าเมื่อศาลพิพากษาลงโทษแล้ว และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษแล้ว ก็ควรเดินตามกระบวนการที่ถูกต้อง“ นายสมชาย กล่าว
ส่วนถ้าตัดเรื่องระเบียบใหม่ออกไป และนายทักษิณใช้กระบวนการรับโทษ 1 ใน 3 แล้วสามารถขอพักโทษได้หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่ได้ ต้อง 6 เดือนหรือ 1 ใน 3 อย่างใดมากกว่ากัน ไม่ใช่อย่างใดน้อยกว่ากัน คือ 1 ใน 3 ของ 1 ปีคือ 4 เดือน ก็ต้อง 6 เดือน ฉะนั้น วันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้จึงจะครบ 6 เดือน นั่นคือเกณฑ์ปกติ และการที่ฝ่ายการเมืองแถลงพักโทษพิเศษนั้น ตนมีข้อสงสัยว่ากำลังจะดำเนินการในบางเรื่องหรือไม่ ฉะนั้น ต้องคิดให้ดี
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่ามีการดำเนินการพิเศษมากกว่าที่จะรอถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ถูกต้อง เกณฑ์ปกติคือต้องเดินตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ทำให้เขารีบแถลงออกมา นี่เป็นข้อสงสัยที่ต้องมีการตรวจสอบต่อ หากรอให้ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ แล้วขอพักโทษข้อคอรหาก็อาจจะน้อยกว่านี้ เพราะนายทักษิณเข้าเรือนจำเวลา 12.00 น. ของวันที่กลับมาไทย แล้วเวลา 00.30 น.ก็ไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจ หากป่วยมากน้อยแค่ไหนก็ควรบอกสังคม แต่ก็ไม่มีความชัดเจน จึงมีข้อครหาของสังคมหรือความเคลือบแคลงว่าตกลงแล้วนายทักษิณไม่ได้เข้าสู่กระบวนการหรือไม่ แต่ตนยืนยันว่านายทักษิณเข้าสู่กระบวนการแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เข้าเรือนจำ
“สิ่งที่ดีคือหากนายทักษิณรักษาหายแล้วก็เข้าสู่ระบบคือการพักฟื้นที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และรอครบเวลาตามกฏหมาย ผมคิดว่าสังคมรับได้ถ้าครบ 6 เดือน แต่หากไปตั้งเกณฑ์พิเศษขึ้นมาอีกแล้วมีการปล่อยตัว ผมไม่แน่ใจว่าอาจเกิดวิกฤตศรัทธาของกระบวนการยุติธรรมไทยมากขึ้นหรือไม่ จึงฝากเตือนว่าอย่าพยายามเขียนระเบียบอะไร ที่ไปทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบือน” นายสมชาย กล่าว
สำหรับการใช้กฎหมายผิดวัตถุประสงค์สามารถนำไปร้องเรียนกับหน่วยงานใด เพื่อให้มีการตรวจสอบและดำเนินการเรื่องนี้ได้บ้างหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า กมธ.มีการตรวจสอบ และบันทึกไว้แล้ว รวมถึงมีคนไปร้องกับหน่วยงานต่างๆ มากมาย หากเดินไปตามปกติก็ไม่มีอะไรและอยากเห็นกระบวนการเดินตรงไปตรงมา
ส่วนผู้ที่ดำเนินการเรื่องนี้จะน่าเป็นห่วงหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ก็มีคนติดคุกแทน หากทำไม่ถูกต้อง เนื่องจากวันนี้สังคมตั้งคำถามเยอะ ถามว่านักโทษที่ป่วยจากเรือนจำต่างจังหวัดไปอยู่โรงพยาบาลกี่วัน อย่างมากก็ไปเช้าเย็นกลับ หากผ่าตัดอย่างมากก็หนึ่งคืน และข้อชี้แจงของกรมราชทัณฑ์ระบุว่ามีนักโทษที่พักอยู่โรงพยาบาลตลอด 1 ปี 2 เดือน มีจำนวนเกิน 3,000 คน เกิน 30 วันมีแค่ 100 คน เกิน 60 วันมีแค่ 33 คน และเกิน 120 วันมี 3 คน โดยใน 3 คนนี้ 2 คน ป่วยโรคจิตอยู่โรงพยาบาล 500 กว่าวัน กับ 200 กว่าวัน
“ท่านอาจจะป่วยก็ได้ แต่เราไม่รู้ว่าป่วยเป็นอะไร หากกรมราชทัณฑ์บอกให้กลับ และกลับบอกว่าแพทย์ไม่ยอมให้กลับ ถามคำเดียวคือนักโทษทั่วไปได้รับสิทธิ์เช่นนั้นหรือไม่ ยืนยันว่าไม่ได้รับสิทธิ์เช่นนั้น เพราะนักโทษทั่วไปต้องมีการประสานกันระหว่าง กรมราชทัณฑ์กับผู้บัญชาการเรือนจำ และโรงพยาบาลประจำจังหวัดทุกแห่ง ในการที่จะนำนักโทษออกไป ต้องมีผู้คุม มีโซ่ตรวน เมื่อไปรักษาเสร็จก็รีบนำกลับ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการหนีเหมือนแป้งนาโหนด วันนี้กระบวนการยุติธรรมที่เกิดคำถามขึ้นคือ ไม่ได้มีความเสมอภาคหรือเท่าเทียมกันจริง มีการละเว้นการปฏิบัติ ถามว่าวันหนึ่งใครจะถูกดำเนินคดี ก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปทำให้เกิดปัญหา“ นายสมชาย กล่าว