POLITICS

‘ศศินันท์’ หวัง ‘เศรษฐา’ จะไม่เอาความคิดลาคลอด 5 วันก็ทำงานได้มาใช้กำหนดนโยบาย

เรียกร้องสิทธิลาคลอด 6 เดือน สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ก่อนไทยจะเผชิญวิกฤติขาดแคลนเด็กเกิดใหม่

วันนี้ (12 ก.ย. 66) น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวกับสวัสดิการเด็กเล็กและสิทธิลาคลอด ระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติอัตราเด็กเกิดใหม่ จากอดีตที่มันเคยมีอัตราเด็กเกิดใหม่ปีละกว่า 1,000,000 คนแต่ในปัจจุบันมีอัตราเด็กเกิดใหม่เพียง 500,000 คน และในปี 2566 อาจมีจำนวนต่ำกว่า 500,000 คนก็ได้ ฉะนั้นปีนี้จะเป็นปีแรกที่ประชากรที่จะเข้าสู่วัยแรงงานลดลงต่ำจนไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงานได้ ซึ่งเป็นวิกฤติเงียบที่อาจก่อให้เกิดปัญหาอีกมากมายในอนาคต ทั้งเรื่องคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย วิกฤติการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

น.ส.ศศินันท์ กล่าวว่า ในรูปเล่มนโยบายของรัฐบาลได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ จะมีศักยภาพเศรษฐกิจที่ลดลงได้ เขียนปัญหาเยอะแยะมากมายในแถลงรัฐบาล แต่ไม่เห็นวิธีการแก้ไขปัญหาเลย มากไปกว่านั้นเนื้อหาเกี่ยวกับสวัสดิการมีคำหนึ่งที่ค่อนข้างติดใจ คือคำว่า ‘สวัสดิการโดยรัฐ’ ทำให้ตนสงสัยว่า มีประเทศไหนในโลกนี้ที่สวัสดิการไม่ได้มาจากรัฐบ้าง เพราะล้วนมาจากรัฐทั้งนั้น จึงคิดว่าคำว่าสวัสดิการโดยรัฐเขียนมาแก้เขินเฉยๆ เพราะอาจจะไปคล้ายกับคำว่าสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่ เพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้วแม้จะหน้าเดิมก็ตาม

รัฐบาลยังเขียนไว้ว่าสวัสดิการจะมีให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธ์ เท่านั้น ซึ่งอาจตีความได้ว่าสวัสดิการนี้ จะมีให้กับประชาชนต่อเมื่อท่านอยากจะให้หรือจะไม่ให้ก็ได้ เป็นเหมือนบุญคุณต่อกัน คล้ายๆที่บอกว่าจะให้เป็นของขวัญต่อประชาชน ทั้งที่เป็นสิ่งที่รัฐต้องทำอยู่แล้ว รัฐควรส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ โดยไม่เลือกว่าเขาเป็นกลุ่มเปราะบางหรือไม่ สวัสดิการจึงเป็นการลงทุนกับอนาคต ซึ่งจะเป็นทางออกในการแก้วิกฤติของประเทศ

น.ส.ศศินันท์ ยังกล่าวว่า หลายประเทศได้ลงทุนเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้ผู้คนอยากสร้างครอบครัว เพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ กระตุ้นให้คนรู้สึกว่าประเทศน่าอยู่เด็กควรเกิดในประเทศนี้

น.ส.ศศินันท์ เผยว่า งานวิจัยหลายชิ้นบอกตรงกันว่าเด็กจะพัฒนาได้สูงสุดในช่วงแรกของชีวิตตั้งแต่ 0-3 ปี และการลาคลอดของแม่ในช่วง 6 เดือนแรก องค์การอนามัยโลกบอกว่า เด็กควรได้รับนมแม่อย่างเดียวอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุ 2 ปี ควบคู่กับอาหารที่เหมาะสม ดังนั้นช่วง 0-6 เดือนแรกเป็นช่วงสำคัญที่ทำให้ครอบครัวได้เชื่อมต่อกัน เพราะการแก้ไขปัญหาเด็กเล็กได้ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาสังคมได้หลายประการ

“แต่ประเทศไทยลาคลอดได้เพียง 3 เดือน การจะให้นมลูกนานกว่านั้น ต้องเป็นภาระของแม่ ดิฉันคือคุณแม่ลูก 2 คนหนึ่ง ที่เคยมีประสบการณ์เหล่านั้น การจะให้นมลูกนอกบ้านเป็นเรื่องยากลำบาก สุดท้ายก็ต้องให้นมผงลูก สิ่งเหล่านี้ควรเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐมีให้กับประชาชน ในการปกป้องทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของประเทศนี้ นอกจากนี้การลาเลี้ยงดูบุตรของคุณพ่อก็เป็นเรื่องสำคัญ มีงานวิจัยมากมายบอกว่า หากพ่อมีเวลาช่วยดูแลลูกได้มากเท่าไหร่ ความสัมพันธ์ของครอบครัวก็จะดีขึ้นมากเท่านั้น ลดโอกาสการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของคุณแม่ และลดอคติเกี่ยวกับบทบาททางเพศด้วย” น.ส.ศศินันท์ กล่าว

น.ส.ศศินันท์ ยังชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยยังขาดแคลนศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์เด็กอ่อน ทำให้เด็กจำนวนมากต้องถูกส่งออกไปต่างจังหวัด อยู่กับปู่ย่าตายาย เพราะรัฐไม่มีการสนับสนุนในการดูแลเด็กในช่วงวัยนี้

“แม้นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี จะเคยกล่าวในทวิตเตอร์ว่า หลังลาคลอด 5 วัน ก็ทำงานได้แล้ว ขนาดท่านป่วยตอนหาเสียง ท่านยังรักษาตัวตั้ง 11 วันเลยนะคะ ดิฉันหวังว่าท่านจะไม่เอาแนวคิดเช่นนี้มาใช้ในการบริหารประเทศ มากำหนดนโยบายค่ะ” น.ส.ศศินันท์ กล่าว

น.ส.ศศินันท์ ยังกล่าวว่า เรื่องการลาคลอด 6 เดือน ไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัจจุบันข้าราชการหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้แล้ว 98 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็ม และหลังจากนั้นอีก 90 วัน สามารถลาคลอดได้ โดยได้อัตราเงินเดือนร้อยละ 50 รวมวัน ลาคลอดประมาณ 188 วัน หรือประมาณ 6 เดือน ส่วนข้าราชการชาย สามารถลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ 15 วัน

แต่หากไม่ใช่ข้าราชการ ยังคงลาคลอดได้เพียง 3 เดือน และไม่มีการลาเพื่อเลี้ยงลูกของพ่อ ความเท่าเทียมทางกฏหมายต้องเกิดขึ้นในกรณีนี้ จึงอยากฝากไปยัง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการเรื่องนี้ด้วย

นอกจากนั้น น.ส.ศศินันท์ ยังกล่าวว่า การอุดหนุนเงินเด็กเล็กถ้วนหน้าเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนการเลือกตั้งมี 10 พรรคการเมืองที่มีนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า เช่น พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้ 3,000 บาทต่อเดือน, พรรคประชาชาติหาเสียงไว้ 4,500 บาทต่อเดือน หรือกรณี น.ส.ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เคยบอกว่า พรรคเพื่อไทยจะผลักดันนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กทั่วหน้า 3,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อมาดูการแถลงนโยบายในวันนี้ กลับไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่เลย อย่างน้อยที่สุดเปลี่ยนเงินอุดหนุนเด็กเล็กจะต้องพิสูจน์ความยากจน เป็นเงินอุดหนุนอย่างถ้วนหน้า ทำให้เด็ก 4 ล้านคนไม่ตกหล่น ก็จะเป็นตาข่ายปกป้องดูแลเด็กให้ได้รับการเติบโตมาได้อย่างดี

Related Posts

Send this to a friend