กทม. เผยมาตราการ 2+3 รับมือน้ำเหนือ – น้ำหนุน
กทม. เผยมาตราการ 2+3 รับมือน้ำเหนือ – น้ำหนุน ชาวกรุงเทพฯ สั่งสำนักงานเขตประชาสัมพันธ์เฝ้าระวัง – ดูแลชุมชนนอกคันกั้นน้ำ พร้อมเตือนประชาชนให้ระวังอย่างหลงเชื่อข่าวปลอม
วันนี้ (10 ต.ค. 67) เวลา 13:00 น. กรุงเทพมหานคร นำโดย นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม. นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. และผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ นำคณะสื่อมวลชน สำรวจการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ใต้สะพาน พระราม 8 เขตบางพลัด โดยขณะนี้ มีการนำกระสอบทรายมากั้นเพื่อยกระดับคันกั้นน้ำ และเตรียมความพร้อมรับน้ำเหนือ และน้ำหนุน ที่เริ่มสูงขึ้นจากการระบายน้ำลงมา
นายอรรถเศรษฐ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์พื้นที่ทางภาคเหนือมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทำให้เกิดน้ำท่วม และส่งผลกระทบให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กทม. ได้มีการติดตามสถานการณ์ และประสานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน, ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่ตลอดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ได้
สำหรับสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อย, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำกักเก็บ 81 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังสามารถรองรับน้ำได้เพิ่มอีก แต่ต้องคอยเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และการบริหารจัดการของกรมชลประทาน
ขณะที่สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก่อนเข้าสู่กรุงเทพฯ ปัจจุบันวันที่ 10 ตุลาคม 2567 มีปริมาณน้ำผ่าน จ.นครสวรรค์ 2,338 ลบ.ม./วินาที (เพิ่มขึ้น 20 ลบ.ม./วินาที) ปริมาณการระบายสูงสุดที่แม่น้ำรับได้ 3,660 ลบ.ม./วินาที มีปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,199 ลบ.ม./วินาที (ทรงตัว) โดยปริมาณการระบายสูงสุดที่แม่น้ำรับได้ 2,730 ลบ.ม./วินาที และมีปริมาณน้ำผ่านจุดวัดน้ำบางไทร 1,830 ลบ.ม./วินาที (เพิ่มขึ้น 39 ลบ.ม./วินาที) โดยปริมาณน้ำผ่านจุดวัดน้ำบางไทรที่กรุงเทพมหานครต้องเผ้าระวัง คือ 2,500 ลบ.ม./วินาที
อย่างไรก็ตาม มาตรการรับมือน้ำให้กับชาว กทม. ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้
1.ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม โดยแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ของ กทม. จากด้านใต้ถึงด้านเหนือ มีระดับสูง + 2.80 ถึง 3.50 ม.รทก. แนวริมแม่น้ำ 88 กม. เป็นแนวป้องกันของ กทม. 80 กม. แนวฟันหลอ 4.35 กม. (32 แห่ง) แนวของเอกชนและหน่วยงานอื่น 3.65 กม. (12 แห่ง)
สำหรับแนวฟันหลอ 32 แห่ง กทม. ได้ดำเนินการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมแล้วเสร็จ 14 แห่ง เช่น สะพานปลา ชุมชนวังหลัง ฯลฯ และมีที่กำลังจะแล้วเสร็จอีก 2 แห่ง เช่น วัดเทพนารี (รวมความยาวที่แก้ไขได้ 2 กม.) และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 9 แห่ง ส่วนแนวป้องกันของ กทม.ที่รั่วซึม 76 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จ 45 แห่ง และกำลังทำจะแล้วเสร็จอีก 2 แห่ง รวมถึงมีที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 7 แห่ง
ทั้งนี้ จุดเสี่ยงน้ำท่วมจากน้ำเหนือน้ำหนุนบริเวณช่องเปิดท่าเรือต่างๆ รวมถึงบริเวณที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ได้เตรียมพร้อมรับมือด้วยมาตรการชั่วคราว โดยการเรียงกระสอบทราย ที่ระดับความสูง +2.30 ถึง +2.70 ม.รทก. และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ซึ่งในปัจจุบัน ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำสูงสุดที่จุดวัดน้ำปากคลองตลาด สูงประมาณ +1.50 ม.รทก. จากอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูง(ระดับคันกั้นน้ำ + 3.00 ม.รทก.) ไม่กระทบต่อแนวพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใน กทม.
2.การเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดย กทม.ได้ออกคำสั่งให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง และสำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำหรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ คอยติดตามสถานการณ์ และแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวัง และเตรียมการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้า และปลั๊กไฟ พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตตรวจสอบการเรียงกระสอบทรายให้มีความสูงเพียงพอ และมีความแข็งแรงสามารถป้องกันน้ำได้ แลเจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การจัดทำคันกั้นน้ำชั่วคราวด้วยกระสอบทราย การทำสะพานทางเดินชั่วคราว การให้ความช่วยเหลือประชาชน ย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ตลอดจนแจกจ่ายยารักษาโรค
อีกทั้ง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำรับทราบสถานการณ์น้ำเหนือ และน้ำหนุน และจัดเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังตามจุดอ่อนหรือจุดเสี่ยงน้ำท่วมและพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนมาตรการพร้อมรับสถานการณ์น้ำฝน ประกอบด้วย
1.ลดระดับน้ำรองรับสถานการณ์ฝน โดยควบคุมระดับน้ำในคลอง แก้มลิง และ Water Bank
2.เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ เช่น สถานีสูบน้ำ, บ่อสูบน้ำ, ประตูระบายน้ำ, ขุดลอกคลอง และเปิดทางน้ำไหลกว่า 2,000 กม. แล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์
3.เตรียมความพร้อมอุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าถาวร, รถโมบายยูนิต, เครื่องสูบน้ำชนิดต่างๆ และหน่วย Best
ขณะเดียวกัน กทม. ยังเตือน 16 ชุมชนนอกคันกั้นน้ำ ให้เฝ้าระวังระดับแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูง และอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เนื่องจากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในโลกออนไลน์ว่า กทม. จะมีพื้นที่เขตใดที่น้ำไม่ท่วม หรือเขตใดเสียหายบางส่วนจากน้ำเจ้าพระยาขึ้น และลง หรือเขตใดเสียหายบางส่วนจากน้ำเหนือ หรือเขตใดจะรับผลกระทบบ้างนั้น กทม.ขอย้ำว่าไม่เป็นความจริง และติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนได้จากเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร
สำหรับ ชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานพื้นที่ ประกอบด้วย เขตดุสิต, พระนคร, สัมพันธวงศ์, บางคอแหลม, ยานนาวา, บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง พร้อมสั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา สำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่างๆ อย่างทันท่วงที
นายเอกวรัญญู กล่าวด้วยว่า กทม. ยังมีหลายจุดที่ยังต้องปรับปรุง ซึ่งมีอีกหลายโครงการที่ กทม. ทำเพื่อป้องกันน้ำที่เกิดจากฝนตกหนัก และทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัด และสำนักการระบายน้ำ ได้ลงพื้นที่ และจริงจังกับเรื่องนี้ ทำให้เห็นว่าน้ำท่วมขังข้ามวันแบบในอดีต ไม่ค่อยมีแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ ซึ่ง กทม. ตั้งเป้าว่า ไม่อยากให้น้ำท่วมขังเกิน 3-4 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ ท่อระบายน้ำของ กทม. รองรับ ปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสมได้ไม่เกิน 60 มิลลิเมตร แต่หากฝนตกมาก จนถึง 100-120 มิลลิเมตร น้ำก็จะต้องท่วมอยู่แล้ว แต่ท่วมอย่างไรให้เกิดการระบายได้เร็วที่สุด และต้องไม่ท่วมข้ามวัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ กทม. กำลังจะทำ ทั้งในระยะกลาง และระยะยาวก็จะมีการสร้างท่อ มีการประสานกับภาคเอกชนในการสร้างแหล่งรับน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำต่างๆ